อุตรดิตถ์ - หอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อม 4 ชุมชนเขตเทศบาลเมืองฯ รุมค้านโครงการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟสี่แยกบ้านเกาะ ถนนเส้นหลักที่เข้า-ออกตัวเมือง ชี้กระทบทั้งเศรษฐกิจการค้า-การจราจร
รายงานข่าวจากจังหวัดอุตรดิตถ์แจ้งว่า หลังผู้เชี่ยวชาญด้านมีส่วนร่วมโครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ที่ทำประชาคมโครงการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ของกรมทางหลวง 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง และเพื่อลดอุบัติเหตุระหว่างรถยนต์กับรถไฟ เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากชาวบ้านชุมชนเจริญธรรม และประชาชน 4 ชุมชน คือ ชุมชนเจริญบัณฑิต ชุมชนพาดวารี และชุมชนบ้านเกาะราว 50 คน ซึ่ง 1 ใน 25 แห่งจะก่อสร้างบริเวณแยกบ้านเกาะ เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์นั้น
ปรากฏว่าขณะนี้ได้เกิดกระแสต่อต้านโครงการนี้ขึ้นมาแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นถนนเส้นหลักที่เข้าและออกจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ของแขวงการทาง เพราะจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของเมืองอุตรดิตถ์ ทำลายเศรษฐกิจค้าขายย่านดังกล่าวที่ทุกวันนี้ก็ซบเซาอยู่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของต่างชาติ
ล่าสุดชาวชุมชนเจริญธรรม เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับประชาชนอีก 3 ชุมชน คือ ชุมชนเจริญบัณฑิต ชุมชนบ้านเกาะ และชุมชนพาดวารี ติดป้ายคัดค้านหน้าร้าน-หน้าบ้าน พร้อมขึ้นป้ายขนาดใหญ่ เพื่อต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับโครงการ
นายวิเชียร แสงวิวัฒน์เจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ในประเด็นนี้ทราบว่าการทางได้ออกแบบไว้หลายแบบด้วยกัน โดยจะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ยาวมาถึงสะพานข้ามแยกบ้านเกาะ ซึ่งชาวชุมชนก็ไม่เห็นด้วย
และในอนาคตรัฐบาลมีโครงการสร้างสาธารณูปโภค 2 ล้านล้านบาท หนึ่งในโครงการนี้ก็จะเป็นรถไฟรางคู่ ซึ่งจะผ่านมายังจังหวัดอุตรดิตถ์ ขณะที่ ดร.จุฬา สุขมานพ ผอ.สนข.ก็บอกว่า ในการสร้างทางรถไฟรางคู่นั้นจำเป็นจะต้องมีการสร้างรั้วกั้นสองข้างทางเหมือนถนนสายมอเตอร์เวย์สายบางนา ซึ่งถ้าหากเป็นอย่างนั้นการก่อสร้างรั้ว 2 ข้างทาง ก็จะเป็นปัญหากับจุดแยกจุดตัดต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจเมืองอุตรดิตถ์ถึง 6 แยก หรือ 6 จุดด้วยกัน ไม่เป็นผลดีต่อการสัญจรไปมาของประชาชนแน่นอน
“ที่จริงตามแผนของ สนข.ที่ได้ออกแบบทำรางรถไฟพาดผ่านเขตเศรษฐกิจเช่น พิษณุโลก ภาชี หรืออยุธยา นครสวรรค์ หรือเมืองอื่นๆ ให้ยกทางรถไฟขึ้น เราจึงเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องก่อสร้างสะพานตรงนี้ หรือหากจำเป็นจริงๆ ก็ขอให้สร้างอุโมงค์แทน”