ระยอง - คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนลงพื้นที่จังหวัดระยอง รับเป็นกาวใจหาข้อยุติเบื้องต้นระหว่างบริษัท พีทีทีจีซี กับเครือข่ายกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่วในทะเลระยอง
วันนี้ (23 ส.ค.) ที่ศูนย์ราชการ จ.ระยอง นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางรับฟังปัญหากรณีน้ำมันรั่วในทะเลจังหวัดระยอง พร้อมรายละเอียดข้อเท็จจริงจากส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีน้ำมันรั่วดังกล่าว โดยมีนายบวร วงษ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) ทั้งตัวแทนฝ่ายบริษัท พีทีทีจีซี จำกัด (มหาชน) นายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง และกลุ่มภาคีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพิจารณาเพื่อหาทางนำไปสู่การไกล่เกลี่ยของทั้งสองฝ่าย
นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวภายหลังจากที่ได้รับฟังคำชี้แจงต่างๆ จากทุกฝ่ายแล้วพบว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่วกลางทะเลระยองยังไม่มีความเชื่อมั่นในหลายประเด็น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในตัวบริษัท แบบฟอร์มการขอค่าเยียวยา รวมทั้งหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ และได้กล่าวเสนอแนะในที่ประชุมโดยขอให้ทางบริษัท พีทีทีจีซี ได้จัดการประชุมชี้แจงแก่ชาวบ้านเป็นการด่วน แต่ต้องไม่เอาการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว
นอกจากนี้ ยังขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดทำเอกสารการดำเนินงานในด้านต่างๆ ส่งให้ทางคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับไปพิจารณาหาข้อบกพร่องต่างๆ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิต่อประชาชนหรือไม่ และจะเป็นแนวทางสู่การไกล่เกลี่ย พร้อมเสนอแนะกลับไปให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดตั้งกองทุนเยียวยาจากงบประมาณของภาครัฐ หรือบริษัทเอกชนในระยะยาวนั้น ต้องมีการถามความเห็นชอบจากทางจังหวัดเสียก่อนว่าเห็นด้วยไหม โดยสิ่งสำคัญต้องให้ประชาชนเป็นฝ่ายพิสูจน์ความเสียหาย เพราะไม่รู้ว่าคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นจากส่วนราชการเอาหลักเกณฑ์อะไรมาคิด ยกตัวอย่างเช่น การจ่ายค่าเยียวยาของกลุ่มประมงที่จ่ายค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท เพราะตามความเป็นจริงทุกคนนั้นคงเสียหายไม่เท่ากัน
นายบวร วงษ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียนที่ทางจังหวัดได้ตั้งศูนย์ฯ ไว้ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายมากให้นำหลักฐานมาแสดง ทางบริษัทฯ ยินดีรับผิดชอบการชดเชยเยียวยาทั้งหมด ต้องยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอาชีพใดบ้าง เสียหายอะไรบ้างอีกอย่างหนึ่ง เป็นบริษัทจำกัด เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ การจะจ่ายเงินต้องมีหลักฐาน มีหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายค่าเยียวยา เพราะอาจมีการซิกแซ็กทำให้เกิดภาพเสียแก่บริษัทฯ
ดังนั้น จึงให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการรับลงทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบเพื่อเป็นข้อมูลให้ทางบริษัทฯ ในการเบิกจ่าย เตรียมจัดทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฯ