เชียงราย - มหาดไทยจับมือหอการค้าเปิดเวทีสัมมนา “สะพานเศรษฐกิจเชียงของ : โอกาสทองการค้า” แต่พาเหรดขึ้นเวทีปั่นกระแสกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน ทำรถไฟรางคู่-รถไฟเร็วสูงเต็มที่ เชื่อดันจีดีพีโต 0.5%
วันนี้ (23 ส.ค.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดเชียงราย จัดสัมมนา “สะพานเศรษฐกิจเชียงของ : โอกาสทองการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว” เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ห้องประชุมดอยตุง โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรยายเรื่อง “ความพร้อมด้านลอจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน : เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและอาเซียน” เน้นกล่าวถึงการใช้งบประมาณเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทเป็นสำคัญ โดยระบุว่าทั่วประเทศมียานพหานะบนท้องถนนรวมกัน 15 ล้านคัน มีเส้นทางสัญจรประมาณ 400,000 กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องนำงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ตามโครงการของรัฐบาล มาพัฒนาระบบคมนาคม ทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ ตามแนวคิดขยายความเจริญไปสู่เมืองใหญ่ๆ ของภูมิภาค ไม่ให้กระจุกตัวที่กรุงเทพมหานครเพียงเมืองเดียว รวมทั้งเชื่อมด่านชายแดนสำคัญตามชายแดน 9 ด่าน ซึ่งมีแผนจะแยกระหว่างการให้บริการขนสินค้าและคนด้วย
ดร.จุฬากล่าว่า งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทจะใช้ไปกับการก่อสร้างทางถนน 289,482.11 ล้านบาท ระบบรางประมาณ 1,658,892.12 ล้านบาท เพื่อสร้างรถไฟรางคู่ ที่เหลือเป็นเส้นทางสายใหม่ รวมถึงอ.เด่นชัย จ.แพร่ ถึงอ.เชียงของ จ.เชียงราย ส่วนรถไฟความเร็วสูงเป็นไปตามแนวคิดการสร้างเมืองศูนย์กลางในภูมิภาค โดยมีเมืองเล็กสาขารายรอบในทุกภาค ซึ่งกรณีเช่นนี้ถ้าเราลงทุนไปเลยด้วยงบประมาณเท่านี้ก็น่าจะส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนตามเมืองใหญ่ได้ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงน่าจะได้รับผลตอบรับ
อย่างไรก็ตาม รถไฟความเร็วสูงสายจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ยังไม่สรุปว่าจะใช้เส้นทางสายพิษณุโลก-สุโขทัย หรือไปทาง จ.อุตรดิตถ์ แต่เป็นไปได้สูงที่จะเชื่อมไปทาง จ.สุโขทัย เพราะทาง จ.อุตรดิตถ์ มีรถไฟสายปกติอยู่แล้ว โดยคาดว่าถ้ารถไฟผ่านพื้นที่ใด จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีแต่ละจังหวั ดเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งในต่างประเทศก็ทำกันอย่างนี้ทั้งนั้น
ขณะที่นายจารุพงศ์ใช้เวทีสัมมนาประชาสัมพันธ์โครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทเช่นกัน โดยระบุว่าโครงการนี้ถือเป็นการนำร่องเกี่ยวกับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศไทย 11 จุด อยู่ใน จ.เชียงราย 3 จุด คือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และอ.เชียงของ ซึ่งต้องอาศัยเวทีนี้แสดงความเห็น โดยเฉพาะกรณี อ.เชียงของ จะมีการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมกับถนนอาร์สามเอ ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้
ส่วนงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท คงจะมีดำเนินการกันนานนับ 10 ปี เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 17.5% แต่หากดำเนินการได้ ก็จะทำให้ภายใน 4-5 ปีลดลงเหลือ 12% ขณะที่ยุโรปอยู่ที่ 9% สหรัฐอเมริกา 10% และสิงคโปร์ 6-7% อีกทั้งปัจจุบันราคาน้ำมันสูงขึ้น และจะมีผลต่อต้นทุนการขนส่งมากขึ้น ส่วนค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานก็เป็น 300 บาท และยังต้องเข้าสู่เออีซี จึงจำเป็นต้องลดต้นทุนระบบลอจิสติกส์ของไทย
“ขณะที่การใช้งบประมาณด้านคมนาคมของไทยตั้งแต่ปี 2540 ใช้ไป 21-23% ของงบประมาณทั้งหมด เวียดนามใช้มากถึง 32-36% ถ้าเราไม่ทำจะตามทันได้อย่างไร”
นายจารุพงศ์กล่าวว่า ปัญหานี้จะแก้ได้ด้วยระบบรางคู่ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 82.94% ของงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท โดยรถไฟรางคู่จะมี 5 สาย แตกต่างจากปัจจุบันที่รถไฟมีระยะทาง 3,800 กิโลเมตร แต่เป็นรางคู่แค่ 10% ความเร็ว ก็แค่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ยังจะถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาด่านพรมแดน อ.เชียงของ เชื่อมกับสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่ คิดเป็นร้อยละ 0.63% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ