xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงระยองไม่ยอมรับการเยียวยา 30 วัน เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ จันทร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา- นักอนุรักษ์ฯ ชี้การแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลอ่าวระยองไร้ประสิทธิภาพ พร้อมติงหน่วยราชการปกป้อง ปตท. พยายามเบี่ยงเบนเหตุการณ์ในครั้งให้เป็นภัยพิบัติ ด้านชาวประมงยังไม่ยอมรับการเยียวยา 30 วัน ชี้ไม่เป็นธรรม พร้อมเตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง 19 สิงหาคมนี้

วันนี้ (17 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสมเจตน์ ทินพงศ์ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ได้จัดการเสวนา “น้ำมันรั่วไหล ความรับผิดชอบต่อสังคม 1 และสิ่งแวดล้อม...แค่ไหน” โดยคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับชมรมนักศึกษาหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมนิด้า ระยอง ในสมาคมการจัดการสิ่งแวดล้อมนิด้า โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม นักอนุรักษ์ฯ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1.ดร.ปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์
3.พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม
4.นายจัตุรัส อี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง
5.นายบุญเชิด สุวรรณทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน)
6.ดร.ภัครพงศ์ พจน์นาถ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ 7.นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยนายธีรพันธ์ นาทีกาญจนลาภ รองประธานคณะอนุกรรรมการยุทธศาสตร์ฯ และผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้

ดร.ปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีกแก่าวบ้าน และคนในจังหวัดระยอง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่มีการจัดเวทีเพื่อฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีปัญหา หรือผลกระทบอย่างไรบ้าง เพื่อนำข้อมูลจากชาวบ้านไปแก้ไขในระยะสั้น กลาง และยาว หรือนำข้อมูลไปบูรณาการในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และอนาคตต่อไป

ด้านนายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเลอ่าวระยองนั้น ส่วนใหญ่จะระดมกำลังไปแก้ไขบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงผลกระทบตั้งแต่จุดการรั่วไหลก่อนจะมาถึงอ่าวพร้าวนั้น ในระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร มีสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ใต้ทะเล โดยเฉพาะแหล่งปะการังบริเวณหินทุ่น หินญวน ฯลฯ ที่ยังไม่มีใครไปพิสูจน์ตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

นอกจากนั้น แบบฟอร์มการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการที่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกรอกรายละเอียดนั้น ไม่ถูกต้อง และชอบธรรม เพราะหากกรอกแบบฟอร์มไปแล้วชาวบ้านอาจตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวควรให้ชาวบ้าน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบควรมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

นายจัตุรัส กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชาวบ้านเริ่มเห็นผลกระทบแล้ว โดยมีสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดตาย เช่น หอยเสียบ ปลาหมึก โลมา และพื้นที่ชายทะเลได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น คือ ที่บริเวณแหลมแม่พิมพ์ ปากน้ำประแสร์ หาดแม่รำพึง ซึ่งอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุก็ได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน

“หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ควรรีบสรุปปัญหา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งจะให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาแจ้งถึงความเสียหายที่ได้รับได้ถึงแค่ วันที่ 31 ส.ค. นี้ เนื่องจากยังมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรจะต้องให้การช่วยเหลือในระยะสั้น กลาง และระยะยาว โดยอาจจะเป็นเดือน ปี หรือปลายๆ ปี ซึ่งควรจะต้องวางแผนในการช่วยเหลืออย่างเป็นกลาง และครอบคลุมในหลายๆ อาชีพที่ได้รับผลกระทบ พวกเรายอมรับไม่ได้ ขณะนี้ได้มีการรวบรวมรายชื่อชาวประมงเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้ทบทวนใหม่” นายจัตุรัส กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ความช่วยเหลือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ กรมอุทยานฯ กรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง โดยในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบนั้นได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเล ดินใต้ทะเล ชายหาด ไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป

ล่าสุด จากการตรวจสอบแนวปะการังใต้ท้องทะเลตอนใต้ของอ่าวพร้าว พบมีปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นหลายจุด โดยไม่ใช่เป็นการฟอกขาวที่เกิดจากธรรมชาติ หรือปัญหาอื่นๆ แต่เกิดจากปัญหาคราบน้ำมันอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการฟอกขาวจากด้านบนสู่ด้านล่าง แสดงให้เห็นว่ามีปัญหา หรือถูกผลกระทบจากด้านบน ซึ่งต้องเป็นคราบน้ำมันอย่างแน่นอน

ด้าน พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางดีเอสไอให้ความสนใจจะเข้ามาดำเนินการในคดีนี้ โดยอยู่ระหว่างการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจากสาเหตุใด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความผิดหลายมาตรการ และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.กรมเจ้าท่า พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.ประมง โดยจะต้องดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา แต่อย่างไรก็ตาม หากจะเข้าไปอยู่ในคดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบก็ต้องได้รับความเห็นชอบ หรืออนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงต่อไป แต่คดีนี้ตนยืนยันว่ารับได้ หรือเอาอยู่หากได้ทำจริง

ในขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัท พีทีทีโกบอล เคมิคอล ที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลนั้นไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา โดยเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ทางบริษัทฯ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลความเป็นจริงในจำนวนการรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้ มีการบิดเบือนข้อมูลว่าจะไม่ขึ้นเกาะ และฝั่ง แต่สุดท้ายก็ขึ้นทั้ง 2 แห่ง

ส่วนราชการในส่วนกลาง และในพื้นที่พยายามให้ความช่วยเหลือบริษัทฯ ดังกล่าว ไม่รุนแรง และควบคุมได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปลาแป้นตายเป็นจำนวนมาก ก็ออกมาแถลงข่าวว่าเกิดขึ้นจากชาวประมงนำไปทิ้ง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นแต่กลับออกมาให้ความช่วยเหลือว่าไม่ใช่จากคราบน้ำมันอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งชาวประมง แม่ค้า-พ่อค้า ผู้ประกอบการรีสอร์ต ชาวบ้านที่บ้านที่อยู่ใกล้ทะเล เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว และพักผ่อน อาหารทะเลขายไม่ได้ ดังนั้น ควรจะต้องเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไปแล้วจึงเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะหากเป็นเช่นนี้แม้จะเชิญชวน หรือ สร้างภาพอย่างไรก็ดี ไม่มีใครมาอย่างแน่นอน เพราะยังมีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ควรจะต้องปิดอ่าวเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่าง 100% นายบุญเชิดกล่าว

นายภูวิช เหยี่วมหา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัญหาน้ำมันรั่วไหลของบริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยถึงวันนี้ประชาชน และชาวบ้านส่วนใหญ่รับไม่ได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญ จะมีการเบี่ยงแบนประเด็นที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากอุบัติเหตุ จากพนักงานบนเรือที่รับผิดชอบการขนถ่ายน้ำมัน

ปัญหาที่เกิดขึ้น หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดเป็นเรื่องธรรมดา หรือไม่มีอะไรรุนแรงจากเหตุในครั้งนี้ โดยให้มาพูดคุยตกลงกัน จากนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็ให้ยุติไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมอุทยานฯ ชาวบ้าน หรือผู้ที่เสียผลประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าวต้องออกมาฟ้องร้องทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา เพราะการกระทำผิดในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเป็นอย่างมาก ทั้งด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญห่วงโซ่อาหารต้องเสียหายไปด้วยจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ดังนั้น ควรจะต้องดำเนินการต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ และต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก

นายบุญเชิด สุวรรณทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยคุณภาพความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทางบริษัทฯ รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก และยอมรับผิดชอบทุกอย่างรวมถึงผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ พยายามออกมาช่วยเหลือและฟื้นฟู โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงที่ให้มาแจ้งผลกระทบ และปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางเยียวยา ประสานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น ม.เกษตรศาสตร์ ม.บูรพา ม.รามคำแหง เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือแก้ไข และแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น กลาง และระยะยาวต่อไป 



กำลังโหลดความคิดเห็น