xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มทส.เจ๋ง! ประดิษฐ์เครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นความถี่ ไร้สารเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มทส. แถลงผลงานวิจัย  “เครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นความถี่สูง”  ของ ผศ.ดร. ชาญชัย ทองโสภา  ผอ.เทคโนธานี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์  วันนี้ ( 8 ส.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ประกอบการข้าวไทย เฮ! นักวิจัย มทส.โคราชเจ๋ง ประดิษฐ์ “เครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นความถี่สูง” สำเร็จ เผยเป็นวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยมีการออกแบบมาก่อน ปลอดภัย ไร้สารเคมี ต้นทุนต่ำเล็งต่อยอดในอุตสาหกรรมข้าวไทย

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นประธาน แถลงผลงานวิจัย “เครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นความถี่สูง” ของ ผศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา ผู้อำนวยการเทคโนธานี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

โดยอุปกรณ์ดังกล่าวได้นำวิธีการให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกด้วยคลื่นความถี่วิทยุมาใช้ในการฆ่ามอดข้าว และออกแบบให้สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยมีการออกแบบมาก่อนและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดการใช้สารเคมี 100%

ผศ.ดร.ชาญชัยเปิดเผยว่า ในปัจจุบันวิธีการฆ่ามอดข้าวที่ใช้อยู่จะใช้สารเคมีในการรมเพื่อกำจัดมอด โดยสารที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ เมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) และฟอสฟิน (Phosphine) ถึงแม้ว่าเมทิลโบรไมด์จะมีประสิทธิภาพในการฆ่ามอดข้าว แต่มีแนวโน้มถูกให้ยกเลิกจากหลายเหตุผล เช่น การต้านทานยาของมอดข้าว การตกค้างของสารเคมี และความเป็นพิษของสารเคมีต่อผู้ใช้และผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นตัวการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันหลายประเทศได้มองหาทางเลือกทดแทนการใช้สารเคมี เช่น การใช้การควบคุมระดับออกซิเจนด้วยก๊าซอื่นๆ เช่น ก๊าซไนโตรเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการฉายรังสี เพื่อให้มอดข้าวขาดอากาศตายหรือใช้สมุนไพรอบ เป็นต้น แต่การใช้คลื่นความถี่วิทยุที่ผ่านมาไม่ได้รับการพัฒนาจากอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากมีราคาสูง สิ้นเปลืองพลังงานมากและการออกแบบที่ยุ่งยากซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้มีความคุ้มค่าทางด้านการลงทุน จากการศึกษาพบว่าการให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกด้วยคลื่นความถี่ วิทยุนั้น ในอดีตเป็นการให้ความร้อนแก่สารอโลหะต่างๆ และจะใช้หลอดกำเนิดคลื่นความถี่ (Electron Tube) เป็นตัวสร้างสัญญาณความถี่วิทยุ ซึ่งหลอดกำเนิดคลื่นความถี่นี้มีข้อเสียหลายด้านทั้งอายุการใช้งานที่ต่ำ สูญเสียกำลังไฟฟ้ามาก มีราคาแพง ยุ่งยากในการใช้งานแตกหักได้ง่าย

ในการประดิษฐ์เครื่องฆ่ามอดข้าวครั้งนี้ ได้นำวิธีการให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกด้วยคลื่นความถี่วิทยุมาใช้ในการออกแบบวงจร สร้างคลื่นความถี่โดยใช้อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์แทนการใช้หลอดกำเนิดคลื่นความถี่ ในการสร้างเครื่องฆ่ามอดข้าวที่ประหยัดกำลังไฟ ออกแบบได้ง่าย อายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดกำเนิดคลื่นความถี่ขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่ยังไม่มีการออกแบบด้วยวิธีการนี้ สามารถนำมาทดแทนการใช้สารเคมีในการฆ่ามอดข้าวเหมาะกับอุตสาหกรรมข้าวไทย เป็นทางเลือกในการลดการใช้สารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปขยายผลต่อยอดในอุตสาหกรรมข้าวไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเดินเครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นความถี่สูง สามารถใช้ได้ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารโดยสามารถทำงานได้มากกว่า 50 ตัน ต่อวัน

ผศ.ดร.ชาญชัยกล่าวต่อว่า ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถผลิตได้เองในประเทศทุกชิ้น จึงมีราคาที่ค่อนข้างต่ำ โดยได้ทำการออกแบบวงจรให้สามารถปรับเปลี่ยนค่าความถี่และกำลังงาน ให้เหมาะสมกับคุณลักษณะของมอดข้าวและปริมาณของข้าวที่ไหลผ่านระบบ โดยใช้เวลาเพียง 2 วินาที ในการให้ข้าวที่มีมอดข้าวไหลผ่านส่วนของวงจรสร้างสนามคลื่นความถี่สูงของเครื่องฆ่ามอดข้าว สามารถฆ่ามอดข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้ข้าวเสียหาย รวมถึงเป็นการอบไล่ความชื้นและฆ่าเชื้อราได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เทคนิควิธีการให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้ในหลากหลายด้าน เช่น การอบไล่ความชื้นของเนื้อไม้ การอบเพิ่มอุณหภูมิสารอโลหะต่างๆ เช่น พลาสติก เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นผลงานในครั้งนี้เป็นผลงานที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยเพื่อแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะอาชีพการปลูกข้าวและการส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศอย่างแท้จริง

“ผลงานวิจัยดังกล่าวจะทำการขยายไปสู่โรงสีข้าวขนาดใหญ่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 และจะขยายผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการรายย่อยต่อไป” ผศ.ดร.วีรชัยกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น