xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลมั่ว! บังคับชาวนาร้อยเอ็ดเลิกปลูกข้าวทำไร่อ้อยแทน รุมจวกยับยันไม่ทำตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธัชชัย ศรีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำคณะฯไปพบชาวบ้านเพื่อโน้มน้าวให้เลิกทำนาให้ทำไร่อ้อยแทน
ร้อยเอ็ด - จังหวัดร้อยเอ็ด เร่งรัดบังคับชาวบ้านลดพื้นที่ทำนา สรุปความต้องการส่งรัฐบาลจันทร์นี้ ทุกคนงง อ้างภาพถ่ายทางอากาศบ่งชี้เป็นพื้นที่สีแดงทำนาไม่ได้ ให้ปลูกอ้อยแทน 86,819 ไร่ใน 13 อำเภอ ชาวบ้านรุมจวกบิดเบือนข้อเท็จจริง ยังทำนาได้ถึงปีละ 2 ครั้ง ในขณะที่จังหวัดเองยอมรับก็งงกับแนวคิดที่รวบรัดดังกล่าวของรัฐบาลเช่นกัน

วันนี้ (3 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธัชชัย ศรีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำคณะส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตร ประกอบด้วย กรมพัฒนาที่ดิน เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ตัวแทนโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ตัวแทนโรงน้ำตาลวังขนาย จ.มหาสารคาม เดินทางเข้าพบ นางกาญจนา เพชรวิเศษ นายอำเภอจังหาร จ.ร้อยเอ็ด เพื่อพาเข้าไปพบกับเกษตรกรทำนา 3 จุด คือบ้านหนองแค ม.6 บ้านม่วงลาด ม.8 ต.ม่วงลาด และบ้านหนองตอ ม.9 ต.ดงสิงห์ อ.จังหาร

พื้นที่ทำนาดังกล่าวถูกกำหนดจากภาพถ่ายทางอากาศว่า เป็นพื้นที่สีแดงที่ถูกน้ำท่วม ไม่สามารถทำนาได้แล้ว กำหนดให้ชาวบ้านหันไปทำการปลูกอ้อยทดแทน โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตร และตัวแทนโรงน้ำตาลเข้าไปพูดโน้มน้าวให้เกษตรกรยกเลิกการทำนา และลงนามเห็นชอบกับการปลูกอ้อยทนตามโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นามาปลูกอ้อยด้วยความสมัครใจแทน แต่ปรากฏว่า การพยายามเข้าไปกำหนดปรับเปลี่ยนที่นาเป็นไร่อ้อยดังกล่าวไม่เป็นผลสำเร็จและไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านส่วนใหญ่ทั้ง 3 หมู่บ้าน และต่างก็ไม่เห็นด้วย

นายธนพล ศักดิ์แสน สารวัตรกำนัน ต.ม่วงลาด ซึ่งคัดค้านแนวคิดของคณะรองผู้ว่าฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่รัฐบาลจะกำหนดพื้นที่สีแดงจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วมาบังคับชาวบ้านให้เลิกทำนา อ้างว่าน้ำท่วมโดยไม่ศึกษาปัญหาภาคพื้นดิน เช่น บ้านหนองแค แม้จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง แต่ชาวนาก็สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องทำนาปรังได้ถึงปีละ 2 ครั้ง มีรายได้ดีกว่าทำการเกษตรอื่นๆ ทุกอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพจากการทำนาไปทำไร่ที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อนในชีวิต และทุกคนยืนยันว่าจะไม่เลิกทำนา และไม่ปลูกอ้อยเด็ดขาด

ส่วนนายไสว พรมประเสริฐ ชาวบ้านม่วงลาด กล่าวว่า แม้พื้นที่ของชาวบ้านถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงก็จริง แต่ตน และชาวบ้านก็ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ตนเองมีที่นา 8 ไร่ ก็ทำได้ทุกปี และได้ข้าวไร่ละ 1.5-2 ตัน ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องทำตามที่รัฐบาลมากำหนดพื้นที่ให้ปลูกอย่างอื่นโดยไม่มีเหตุผล และไม่ศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งไม่เอาด้วยแน่นอน และอีกอย่างตนก็ไม่เข้าใจว่าพื้นที่น้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร เวลาน้ำท่วม จะปลูกอ้อยได้ยังไง

ในขณะที่การประชุมชาวบ้านที่ ต.ม่วงลาด นายสมยศ สุดแสนยา นายก อบต.ม่วงลาด กล่าวว่า หลังจากทราบข่าว และเรียกชาวบ้านมาประชุมเพื่อลดพื้นที่ทำนา แล้วให้หันไปทำไร่อ้อย ได้รับการคัดค้านทันที เพราะไม่คุ้นเคยกับอาชีพทำไร่ เพราะทำนามาตลอดชีวิต จึงไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับลักษณะเร่งรีบให้ชาวบ้านลงชื่อยอมรับปรับเปลี่ยนจากการทำนามาปลูกอ้อย ภายในวันเดียว และต้องมีคำตอบทันทีซึ่งเป็นไปไม่ได้

ทั้งนี้ เพราะไม่ทราบว่าจะต้องลองผิดลองถูกอีกกี่ปีจึงจะคุ้นเคย และหากเกิดความเสียหายใครจะรับรองความเสียหายของต้นทุนที่เสียไป และรับผิดชอบรายได้ที่ขาดไปจากการขายข้าวของชาวบ้าน ถ้าทำไร่อ้อยไม่ประสบผลสำเร็จ

ส่วน นางกาญนา เพชรวิเศษ นายอำเภอจังหาร กล่าวว่า ตนเองปกครองชาวบ้านแบบประชาธิปไตย รับฟังความคิดชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านไม่เอาด้วยก็ไม่บังคับให้ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ที่เดิมเป็นชาวนา แล้วจะบังคับให้ไปทำไร่แทน และก็ไม่บังคับฝืนวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่แม้จะน้ำท่วมพอน้ำลดก็ทำนา และเมื่อน้ำมาก็หาปลากินที่เขาก็อยู่กันได้ ซึ่งตนก็เคารพในแนวคิดของชาวบ้านที่ไม่เชื่อการกับการที่ถูกคนที่ไม่รู้จัก และไม่รู้ปัญหามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปประกอบอาชีพที่ไม่คุ้นเคย

ทั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาผลผลิตไม่ได้ และสรุปความคิดนี้ไปยังรัฐบาลด้วย ซึ่งเชื่อว่าคงจะต้องส่งคนลงมาศึกษาคามคิดเห็น และความจริงก่อน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องก็คงจะรับฟังในเหตุผลของชาวบ้านด้วย

ทางด้านนายธัชชัย ศรีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวยอมรับว่า จู่ๆ รัฐบาลก็ส่งเอกสารมากำหนดให้พื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดที่มี 20 อำเภอ มีถึง 13 อำเภอ ที่กำหนดจากภาพถ่ายทางอากาศ มาให้เป็นพื้นที่สีแดง 69 ตำบล แล้วกำหนดให้ปลูกอ้อย 86,819 ไร่ ซึ่งตนทำตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ที่สั่งให้ลงมาพบชาวบ้านเพื่อให้ลงชื่อ และรับฟังความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ตั้ง 13 อำเภอ เร่งส่งคำตอบไปยังรัฐบาลที่กำหนดให้ส่งไปภายในวันที่ 5 สิงหาคม 56 ซึ่งเร่งด่วนมาก

อย่างไรก็ตาม จากการลงสำรวจความเห็น และดูสภาพแล้ว ยอมรับว่าพื้นที่ถึงแม้จะน้ำท่วมแต่เขาก็เหมาะที่จะทำนา มีรายได้ดี มีความคุ้นเคยกับการทำนา และต่างก็ไม่ยอมเสี่ยงที่จะหันไปปลูกอ้อยที่ไม่คุ้นเคย ตนก็เห็นด้วยสอดคล้องกับชาวบ้านที่ไม่อยากจะเริ่มต้นนับหนึ่งไปเสี่ยงกับการปลูกอ้อย ซึ่งก็จะสรุปแนวคิดไม่เห็นด้วยส่งไปยังรัฐบาลต่อไป
ชาวบ้านคัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะแม้น้ำจะท้วมบ้างแต่ทำนาได้ปีละสองครั้ง
พื้นที่สีแดงที่รัฐบาลอ้างว่าไม่เหมาะต่อการทำนา

กำลังโหลดความคิดเห็น