xs
xsm
sm
md
lg

ทำ “นาโยนกล้า เกษตรอินทรีย์” คืนความสมบูรณ์สู่ผืนนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

“หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” คำนิยามถึงชาวนาไทยที่หลายคนคุ้นเคยและจินตนาการภาพตามได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญการทำนาปลูกข้าวนั้นเป็นอาชีพที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นสินค้าการเกษตรที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศเป็นอันดับต้นๆ แต่รายได้ที่ตกถึงปากท้องชาวนาไทยนั้นแค่ในระดับพออยู่พอกินเท่านั้น บางรายอาจถึงขั้นลำบากได้กลับมาไม่คุ้มทุนที่ลงไปกับค่ายาค่าปุ๋ย ยิ่งเจอภัยพิบัติธรรมชาติซ้ำเติมด้วยแล้วบางรายแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเมื่อครั้งเกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ช่วงปี 2553-2554 ส่งผลให้ผืนนา และพื้นที่การเกษตรของชาวอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายอย่างมากและบางพื้นที่เสียหายเต็ม 100%
แปลงนาสาธิตเกษตรอินทรีย์ อบต.สามบัณฑิต
จากเหตุการณ์ดังกล่าว โรงไฟฟ้ากลุ่มบริษัท กัลฟ์ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าอุทัย และโรงไฟฟ้าหนองแซง ร่วมกับมูลนิธิพลังงานไทย จัดโครงการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งศึกษาการทำเกษตรแบบพอเพียง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาถ่ายทอดสู่ชาวนา เยาวชน และชุมชนเพื่อหวังให้เกิดการพัฒนาเกษตรและเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินมาแต่ปี 2555 มุ่งเน้นนำองค์ความรู้การทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ การทำนาโยนกล้า แทนการทำนาหว่าน นาดำที่ชาวนาส่วนใหญ่นิยมทั้งยังส่งเสริมการทำนาปลอดสารเคมี จากเดิมที่นิยมใช้เพื่อฆ่าหญ้า ฆ่าเพลี้ยก็ให้หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนซึ่งช่วยสร้างระบบนิเวศโดยรอบผืนนาให้มีความสมบูรณ์ทั้งยังลดต้นทุนการผลิต แต่ได้พันธุ์ข้าวที่ดีและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ของแปลงนาสาธิตขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สามบัณฑิต อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

ย่างก้าวสู่ปีที่ 2 ในปี 2556 เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม บ.กัลฟ์ มูลนิธิพลังงานไทย ร่วมกับ อบต.สามบัณฑิตสานต่อโครงการดังกล่าวขึ้นอีกครั้งมีชาวบ้านในพื้นที่ อบต.สามบัณฑิตและใกล้เคียงเข้าร่วม ที่สำคัญครั้งนี้ได้มีการฟื้นฟูประเพณีแรกนาไหว้แม่โพสพ และทำขวัญข้าวบูชาแม่โพสพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจระลึกถึงพระคุณแม่โพสพ ซึ่งประเพณีดังกล่าวไม่ค่อยนิยมทำในปัจจุบัน โดย นายธนญ ตันติสุนทร ผู้อำนวยการบริหาร สายงานองค์กรสัมพันธ์กลุ่ม บ.กัลฟ์ กล่าวว่า เราพบว่า เกษตรกรอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสระบุรีมีอาชีพหลักคือทำนา เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมก็กระทบมากจึงคิดหาวิธีเพื่อช่วยเหลือโดยทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวนา ส่งเสริมการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อการทำเกษตรที่ยั่งยื่นโดยได้รับเกียรติจากปราชญ์ชาวนา อาทิ นายเชาว์วัช หนูทอง ปราชญ์เกษตรละโว้ธานี จ.ลพบุรี มาแนะนำเทคนิควิธีการทำนาโยนเงินล้าน นายเดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี นายชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้านมาให้คำแนะนำในการทำนาโยนและเกษตรอินทรีย์ด้วย ซึ่งหลังจากดำเนินการไปในปีแรกได้รับเสียงตอบรับดีมาก ซึ่งปรากฎว่ามีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น และจะสานต่อในปีที่ 2 ตั้งเป้าจะขยายแปลงนาสาธิตเพิ่มไปในพื้ที่ อ.อุทัย อ.ภาชี และใกล้เคียงทั้งในจ.อยุธยาและสระบุรี โดยหวังว่าเกษตรกรจะมีโอกาสรับทราบแนวทางของเกษตรอินทรีย นำประโยชน์มาสู่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
พิธีทำขวัญข้าวบูชาแม่โพสพ ฟื้นฟูและสืบสานประเพณีที่มีมาแต่โบราณ


ด้าน ว่าที่ พ.ต.แทน ทรงวิทย์ นายก อบต.สามบัณฑิต เล่าว่า พื้นที่ อบต.สามบัณฑิต ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน 90% มีอาชีพทำนาปลูกข้าวซึ่งเมื่อครั้งน้ำท่วมผืนนาทุกแห่งในพื้นที่เสียหาย 100% ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก ส่วนการทำนาของชาวนาที่นี้จะใช้วิธีไถ่และหว่าน รวมทั้งใช้สารเคมีในการฉีดพ่นฆ่าเพลี้ยกระโดด หรือแมลงที่มาทำลายข้าวซึ่งวิธีเหล่านี้ส่งผลให้ชาวนามีต้นทุนสูงมาก เพราะนอกจากเสียเงินค่ายา ค่าปุ๋ย ยังรวมถึงค่าจ้างคนงานฉีดพ่น ในฐานะผู้ดูแลประชาชนจึงต้องการหาวิธีเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระจากที่ทำโครงการส่งเสริมความรู้แก่ชาวบ้าน เช่น ทำไร่นาสวนผสม ปลูกผัก เลี้ยงปลาก็มีโอกาสมาร่วมในโครงการดังกล่าว อบต.จึงได้เช่าพื้นที่ชาวบ้านที่ติดกับ อบต.ประมาณ 4 ไร่ฟื้นฟูจนเกิดเป็นแปลงนาสาธิตทำเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษและทำนาโยนกล้ามีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และช่วยดูแลซึ่งปีที่ผ่านมาทำไปแล้ว 2 ครั้งได้ผลผลิตดีเป็นที่น่าพอใจ สำหรับคราวนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

ทำนาโยน 2 ครั้งที่ผ่านมาได้ผลผลิตดีมากเก็บเกี่ยวได้ครั้งล่าสุดประมาณ 3 เกวียน หรือ 50 ถัง ซึ่่ง อบต.ไม่ได้นำไปขายแต่อย่างใด แต่นำเมล็ดพันธุ์ไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปขยายพันธุ์ต่อ นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากหน่วยงานราชการต่างๆ เดินทางมาดูเยี่ยมชมแปลงนาสาธิต ชาวบ้านก็สนใจเพียงแต่ยังไม่มีใครนำวิธีการทำนาโยนกล้าไปทำ เพราะยังเคยชินกับการทำนาหว่าน นาดำแบบเดิมอยู่แต่อย่างน้อยก็เลือกที่จะมาเรียนรู้วิธีการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ และนำไปปปรับใช้กับนาตัวเองมากขึ้น ซึ่งทาง อบต.ก็มีการอบรมทำปุ๋ยชีวภาพให้แก่ชาวบ้านและสร้างความตระหนักในการทำเกษตรที่ปลอดสารเคมีให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะเด็กๆ” นายก อบต.สามบัณฑิต กล่าว

ขณะที่ อ.เชาว์วัช ผู้เชี่ยวชาญในการทำนาโยนได้ให้ความรู้ ว่า ข้อดีของการทำนาโยน คือ ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว อีกทั้งระยะเวลาเติบโตในนานั้นน้อยลงถึง 15 วันเนื่องจากเราต้องเพาะต้นกล้าของข้าวให้โตก่อนในกระบะก่อนจะนำมาโยนในนาซึ่งจะใช้เวลา 3-4 วันที่เหลืออีกร้อยกว่าวันซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดเมื่อข้าวตั้งท้องออกรวงก็เก็บเกี่ยวตามปกติ หรือหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมต้นข้าวจากนาโยนก็จะโตพอให้เก็บเกี่ยวได้ไวกว่าการทำนาอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อรายได้ของชาวนาน้อยลง อีกทั้งชาวนาไม่ต้องกังวลปัญหานกจิกเมล็ดพันธุ์ หรือต้นหญ้าที่จะโตมาแทรกแซงเพราะต้นกล้าโต ที่สำคัญลงทุนไม่มากยกตัวอย่างแปลงนาสาธิตแห่งนี้ รวมค่าต้นกล้าและค่าแรงการโยนอยู่ที่ 1,300 บาท เพราะไม่ต้องฉีดยาคุมศัตรูพืช เป็นต้น และการทำนาโยนแบบเกษตรอินทรีย์ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมล็ดพันธุ์ที่ได้เมื่อเก็บเกี่ยวมีความสมบูรณ์ เม็ดโตสวยงามและไม่มีสารเคมีตกค้างนำไปขายก็ได้ราคา

คาดว่าอนาคตการทำนาโยน จะเป็นที่นิยมทำอย่างแพร่หลายขึ้นเพราะนอกจากจะลดอายุการโตของข้าวในนาช่วยให้เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น ยังลดต้นทุนการผลิต สำคัญที่สุดเมื่อผสมผสานกับการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะช่วยปรับระบบนิเวศแล้ว ยั่งมั่นใจได้ว่าข้าวทุกเมล็ดที่ได้จากนาเหล่านี้ปลอดสารพิษ รับประทานเข้าไปจะไม่มีสารพิษตกค้างสะสมในร่างกายคนไทยแน่นอน
นายเชาว์วัช หนูทอง

ต้นกล้าที่จะนำมาโยนลงแปลงนา
นายธนญ ตันติสุนทร กลุ่มบ.กัลฟ์ ร่วมทำนาโยน


กำลังโหลดความคิดเห็น