เพชรบูรณ์ - ชี้วิกฤต “สหฟาร์ม” ปิดโรงงานเมืองมะขามหวานกระทบเศรษฐกิจวงกว้าง เสียหายเป็นพันล้าน ขณะที่ลูกเล้ารายใหญ่โอดคราญหนัก กู้ทั้งใน-นอกระบบมาลงทุน เจอ “โกลเด้นไลน์” เบี้ยว หลอกว่าจะจ่าย ใกล้ถูกยึดที่ถึง 2 แปลงจนเครียดกินไม่ได้ นอนไม่หลับ
วันนี้ (8 ก.ค.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการแรงงานและสังคม จ.เพชรบูรณ์ ได้เดินทางไปที่บริษัทโกลเด้นไลน์บิสซิเนส จํากัด เลขที่ 99/2 ม.4 ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ที่ประกาศหยุดกิจการ และถูกแรงงานด่างด้าวลุกฮือประท้วงเพราะค้างจ่ายค่าแรงถึง 2 งวด เพื่อร่วมประชุมหารือกับทางผู้บริหารบริษัทฯ
นางอภิญญา ขาวลิขิต สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า เป็นการมาติดตามเรื่องการจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างในเดือนพฤษภาคม 56 ซึ่งทางบริษัทโกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จํากัด มีกำหนดจ่ายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ และค่าจ้างในเดือนมิถุนายนจะจ่ายช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม 56 โดยบริษัทต้องจ่ายให้ครบถ้วน โดยโอนเงินบัญชีธนาคารให้ลูกจ้างเบิกถอนเงินได้ทางตู้เอทีเอ็มซึ่งเป็นเส้นทางปกติ ส่วนจำนวนลูกจ้างกำลังมีการตรวจสอบซึ่งตามบัญชีแรงงานพม่ามีทั้งหมด 3,017 คน
“กรณีนี้เป็นการจ่ายค่าจ้างที่ค้างไว้ ซึ่งบริษัทประชุมชี้แจงแล้วว่าสาเหตุปัญหาเพราะอะไร ส่วนข้อมูลเรื่องการหยุดกิจการชั่วคราวนั้นจังหวัดอื่นเป็นยังไงไม่ทราบ แต่ที่เพชรบูรณ์ตามข้อเท็จจริงไม่ได้มีการประกาศหยุดกิจการ” นางอภิญญากล่าว
ด้านนายกษิต โฆษิตานนท์ ประธานหอการค้า จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังบริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด เลขที่ 99/2 ม.4 ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ในเครือจากสหฟาร์ม ประกาศหยุดธุรกิจการผลิตไก่แช่แข็งเพื่อการส่งออกเป็นการชั่วคราว และถูกลูกจ้างแรงงานต่างด้าวลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องค่าจ้างที่ติดค้างอยู่ถึง 2 เดือนว่า สหฟาร์มเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคแน่นอน
เนื่องจากมีคนหลากหลายกลุ่มอาชีพที่ได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อย หรือลูกเล้าที่ทำสัญญากับบริษัท และมีการลงทุนไปแล้ว แต่เกิดปัญหาติดค้างหนี้สินจนทุนหายกำไรหด กลุ่มคนเหล่านี้น่าเป็นห่วงกว่ากลุ่มแรงงงานในระบบ ซึ่งได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอยู่แล้ว ทางราชการจึงควรเร่งยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
นายกษิตกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาณบ่งชี้เนื่องจากทางกลุ่มพ่อค้าพืชไร่ในเพชรบูรณ์ราว 30-40 รายหยุดป้อนข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบให้แก่บริษัท ซึ่งทราบมาว่าเนื่องจากมีปัญหาภาวะหนี้สินเช่นเดียวกัน โดยมูลหนี้ที่เป็นตัวเลขกลมอยู่ราวๆ 1 พันล้านบาท จึงอยากเสนอให้กรมสืบสวนคดีพิเศษเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริง
ขณะที่นางสุดารัตน์ วางใจ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เพชรบูรณ์ ในฐานะลูกฟาร์มของบริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด (สหฟาร์ม) เปิดเผยว่า โกลเด้นไลน์ฯ ไม่เคยจ่ายหนี้ที่ค้างกันมานานหลายเดือนแล้ว เฉพาะตนมีมูลหนี้กว่า 3 แสนบาท ขณะที่อีก 14 ฟาร์มขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบปิดกำลังได้รับความเดือดร้อน เคยไปเรียกร้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์กลับไม่รับเรื่อง บอกเป็นเรื่องของธุรกิจให้ไปฟ้องกันเอง ขณะที่ตนเคยไปประท้วงกับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่นครสวรรค์ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยร้องไปที่ศูนย์ดำรงธรรมที่นครสวรรค์ก็รับเรื่องร้องทุกข์ แต่สรุปก็คือไม่คืบหน้า
นางสุดารัตน์บอกว่า หลายปีที่ผ่านมาตนเอาลูกไก่มาจากโกลเด้นไลน์ฯ หรือสหฟาร์มครั้งละ 16,000-17,000 ตัว โดยใช้ที่ดินค้ำเงินกู้ธนาคารประมาณ 1 ล้านบาทมาลงทุนทำฟาร์มปิดจำนวน 4 โรง และทยอยวางหลักทรัพย์เพื่อเอาลูกไก่มาจากสหฟาร์มประมาณ 2 แสนบาทต่อครั้งเพื่อเลี้ยงไก่ในระยะ 38-40 วัน ซึ่งจะมีต้นทุนหัวอาหาร, ค่าแรงงาน, ค่าไฟฟ้า ฯลฯ พอไก่โตก็ขายคืนบริษัทได้ครั้งละประมาณ 1 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วคงมีกำไรครั้งละกว่า 1 แสนบาท
นางสุดารัตน์บอกว่า ทำมาหลายปี แต่ตอนนี้เลิกแล้วตั้งแต่บริษัทไม่มีเงินจ่าย ค้างมาตั้งแต่ปีใหม่ประมาณ 3 แสนบาท หรือค้างค่าไก่ 2 รุ่นก็เลิกเลี้ยง ล่าสุดบริษัทก็ไม่ยังยอมจ่ายให้ ณ วันนี้เดือดร้อนมากต้องแบกหนี้เงินกู้ธนาคาร มิหนำซ้ำระหว่างที่รอความหวังว่าเงินค่าไก่จะออกตั้งแต่ปีใหม่โดยไม่ทราบว่าถูกหลอก ก็จำใจไปกู้เงินนอกระบบอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 บาทต่อเดือนเพื่อนำเงินมาหมุนอีก กลายเป็นดินพอกหางหมู แถมโฉนดที่ดิน 2 แปลงที่เอาไปค้ำเงินกู้นอกระบบก็กำลังจะถูกยึด ส่วนหนี้สินธนาคารคิดว่าต้องผัดผ่อนไปเรื่อยๆ
“ค่ากินอยู่ทุกวันนี้ก็อาศัยเงินที่ได้จากการเลี้ยงไก่อิสระจำนวน 2 พันตัวเท่านั้น แทบไม่อยากหวังอะไรมากจากภาครัฐ เพราะเรียกร้องไปหลายหน่วยงานแล้วก็เงียบ เพิกเฉย บอกให้ไปฟ้องร้องกันเอง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เครียดจนกินข้าวไม่ได้ ส่วนที่คนงานภายในบริษัทเขาประท้วงก็สัญญาว่าจะจ่ายค่าแรงสิ้นเดือนกรกฎาคม 56 แต่ผู้เลี้ยงไก่ยังไม่รู้ชะตากรรม”