xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งเที่ยวนอกพุ่งรูดปรื๊ดโต26%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยคนไทยใช้โอกาสช่วงเงินบาทแข็งค่า แห่ช็อปเมืองนอก ดันยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตในต่างประเทศพุ่ง 26.48% ขณะที่ยอดใช้จ่ายบัตรในไทยเองก็เพิ่มขึ้น 8.97% เช่นเดียวกับยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าพุ่ง 4.88%ภายในเดือนเดียว ส่วนหนี้เอ็นพีแลในธุรกิจบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 6.24% แต่เมื่อเทียบสินเชื่อปล่อยไป ยอดหนี้ไม่มากนัก ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 14.18% โตตามสินเชื่อ-จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นสูง

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ประกาศตัวเลขบัตรเครดิตล่าสุดเดือนมี.ค.56 ซึ่งรวมผู้ประกอบการทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยและบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) พบว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งช่วงนั้นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 6% ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้คนไทยและครอบครัวแห่ท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนอกประเทศเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากกว่า 26% ภายในเดือนเดียว

ทั้งนี้ จำนวนบัตรเครดิตและยอดสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงเพิ่มขึ้น แต่ตัวนอนแบงก์กลับมียอดสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง โดยยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 2.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.75 พันล้านบาทเทียบกับเดือนก่อนหน้า แบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของธนาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ 2.20 พันล้านบาท แต่นอนแบงก์ลดลง 434 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณบัตรเครดิตในระบบมีทั้งสิ้น 17.27 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.35 แสนใบ เป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 6.96 หมื่นใบ และนอนแบงก์ 6.54 หมื่นใบ

สำหรับปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมผ่านบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.04 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 9.38% เทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 5.82 พันล้านบาท และ4.60 พันล้านบาท ตามลำดับ และเมื่อแยกประเภทการใช้จ่าย พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ ปริมาณการใช้จ่ายต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายต่างประเทศที่มีสัดส่วนโตถึง 26.48% จากปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศทั้งสิ้น 7.45 พันล้านบาท

ด้านปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตภายในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 9.92 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.17 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.97% เพิ่มขึ้นในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 4.55 พันล้านบาท นอนแบงก์ 3.61 พันล้านบาท เช่นเดียวกับการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นสัดส่วน 4.88% หรือเพิ่มขึ้น 687 ล้านบาท เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของนอนแบงก์ 370 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ 318 ล้านบาท

ส่วนยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 5.37 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 6.24% เมื่อเทียบไตรมาสแรกของปีนี้กับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบยอดเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อบัตรเครดิตของผู้ประกอบการบัตรเครดิตแต่ละประเภทเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 2.43% และนอนแบงก์เพิ่มขึ้น 1.94% ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลบัตรเครดิตโดยรวมอยู่ที่ 2.23%ต่อสินเชื่อบัตรเครดิตโดยรวม

**สินเชื่อส่วนบุคคล-เอ็นพีแอลเพิ่ม**
ในเวลาเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ไทย นอนแบงก์และสาขาธนาคารต่างชาติให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบมียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 8.55 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เกิดจากธนาคารพาณิชย์ 671 ล้านบาท นอนแบงก์ 370 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 20 ล้านบาท แต่เมื่อคิดสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 3.36% รองลงมาเป็นนอนแบงก์ 3.02% ตามมาด้วยสาขาธนาคารต่างชาติ 2.61% ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลโดยรวมเทียบกับสินเชื่อปล่อยไปคิดเป็น 3.16%

ทั้งนี้ ภายใต้ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทั้งสิ้น 2.71 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 7.26% หรือเพิ่มขึ้น 1.83 หมื่นล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของธนาคารพาณิชย์มากที่สุด 1.30 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยนอนแบงก์ 5.23 พันล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 138 ล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีมีทั้งสิ้น 10.60 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 7.79% หรือเพิ่มขึ้น 7.63 แสนบัญชีภายในเดือนเดียว โดยธนาคารพาณิชย์มีบัญชีสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด 4.19 แสนบัญชี นอนแบงก์ 3.42 แสนบัญชี และสาขาธนาคารต่างชาติ 2.09 พันบัญชี.
กำลังโหลดความคิดเห็น