xs
xsm
sm
md
lg

รูดปรื๊ดเมืองนอกพุ่ง 50% คนไทยท่องเที่ยวยกครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติเผยธุรกิจบัตรเครดิตยังสดใส ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.76% ปริมาณการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2.30 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.31% จากการใช้จ่ายภายในไทยเพิ่มขึ้น 32.22% ต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 50.07% เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้มีการท่องเที่ยวเป็นแบบครอบครัวมากขึ้น

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ได้ประกาศตัวเลขสำคัญของธุรกิจบัตรเครดิตล่าสุด เดือน ต.ค.ของปี 55 พบว่า ยอดสินเชื่อบัตรเครดิตโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแม้การเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลง แต่การใช้จ่ายภายในประเทศ และต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้ยอดการใช้จ่ายรวมของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งสวนทางกับบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ทั้งยอดสินเชื่อ ปริมาณบัตรเครดิต และปริมาณการใช้จ่ายทุกประเภทลดลง

ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตมีจำนวน 2.31 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4.60 พันล้านบาท คิดเป็น 2.03% และเพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสัดส่วน 12.76% ซึ่งส่วนนี้นอนแบงก์ลดลง 2.43 หมื่นล้านบาท แต่ยอดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5.04 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปริมาณบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งเทียบกับเดือนก่อนหน้า และช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.55 แสนใบ และ 1.48 ล้านใบ ซึ่งนอนแบงก์เท่านั้นลดลง 3.6 แสนใบ ตามลำดับ จากปัจจุบันที่มีปริมาณบัตรทั้งสิ้น 16.72 ล้านใบ

ส่วนปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 1.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.71 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.09% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.30 หมื่นล้านบาท หรือสัดส่วน 24.31% โดยหากพิจารณาตามประเภทการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่างๆ พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายในประเทศมีทั้งสิ้น 9.60 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.41 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 17.20% และเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 2.34 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 32.22% แบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของบัตรที่ออกในประเทศ 1.98 หมื่นล้านบาท และบัตรออกนอกประเทศหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายในไทย 3.62 พันล้านบาท

ด้านปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีทั้งสิ้น 7.62 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.61 พันล้านบาท คิดสัดส่วน 26.74% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.54 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 50.07% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แต่ในส่วนของนอนแบงก์ลดลง 448 ล้านบาท ส่วนการเบิกเงินสดล่วงหน้ามีทั้งสิ้น 1.38 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.45 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.71% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนกลับลดลงเกือบ 3 พันล้านบาท หรือลดลงสัดส่วน เพิ่มขึ้นถึง 50.07% ซึ่งผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านนี้ทุกประเภทต่างลดลง

แหล่งข่าวจาก ธปท.กล่าวว่า ตัวเลขธุรกิจบัตรเครดิตนอนแบงก์ลดลงหลายตัว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการจับมือกับห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่ง เพื่ออัดแคมเปญต่างๆ ดึงดูดให้คนใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ตัวนอนแบงก์อาจมีกำลังค่อนข้างน้อยในการกระตุ้นเรื่องนี้ เพราะไม่ได้มีทุนมาจากการระดมเงินฝากเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ ส่วนในเดือน ต.ค.ที่ปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ และต่างประเทศยังขยายตัวดีในธุรกิจบัตรเครดิตเกิดจากเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้มีการท่องเที่ยวในลักษณะครอบครัวมากขึ้น ขณะที่การเบิกเงินสดลดลงอาจเกิดจากเศรษฐกิจดีขึ้น และการใช้จ่ายบัตรเครดิตจากปัจจัยน้ำท่วมก็ลดลงแล้ว

นอนแบงก์โหมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล

สำหรับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท.ล่าสุด ในเดือน ต.ค.ของปีนี้ พบว่า ยอดสินเชื่อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะนอนแบงก์ โดยปัจจุบัน ยอดคงค้างสินเชื่อมีจำนวน 2.44 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4.20 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 3.26 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.44% ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยนอนแบงก์ 8.62 พันล้านบาท แต่สาขาธนาคารต่างชาติกลับซบเซาลดลงเกือบ 3 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบมีทั้งสิ้น 9.64 ล้านบัญชี ส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.10 แสนบัญชี และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8 แสนบัญชี หรือเพิ่มขึ้นสัดส่วน 9.05% เป็นการเพิ่มขึ้นของนอนแบงก์มากที่สุด 4.95 แสนบัญชี ซึ่งแซงหน้าธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น 3.28 แสนบัญชี แต่สาขาธนาคารต่างชาติสวนกระแสลดลง 2.30 หมื่นบัญชี
กำลังโหลดความคิดเห็น