เชียงใหม่ - ชาวเชียงใหม่ แห่ร่วมพิธีเข้าทรง ล้มควายหนุ่มเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ ยักษ์ผู้ดูแลพื้นที่ เชื่อยักษ์ในตำนานจะช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข
วันนี้ (22 มิ.ย.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดพิธีเลี้ยงดง หรือพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะขึ้นที่ป่าชุมชนหลังวัดดอยคำ บ้านแม่เหียะ หมู่ 3 ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ และอุดมสมบูรณ์ โดยมีชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวนับพันมาร่วมงาน
การทำพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ มีการล้มควายหนุ่มสีดำที่มีหูเพียงเขา (หูยาวเท่าเขา) รูปร่างดี เพื่อเป็นเครื่องเซ่นให้แก่ดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ ที่ปกป้องรักษาผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ ป้องปรามไม่ให้ดวงวิญญาณทั้ง 2 แตะต้องมนุษย์ พร้อมกับทำพิธีอัญเชิญวิญญาณผีปู่แสะ-ย่าแสะออกจากศาลบริเวณบันไดขึ้นวัดพระธาตุดอยคำ ให้มายังสถานที่ประกอบพิธี ก่อนที่ดวงวิญญาณทั้งสองจะมาเข้าร่างทรง และกินเนื้อควายเครื่องเซ่น ทั้งนี้ ภายในบริเวณมีการตั้งศาลเพียงตาจำนวน 12 ศาล เพื่อวางเครื่องเซ่นให้แก่เจ้าที่เจ้าทางที่สิงสถิตอยู่ด้วย
ทั้งนี้ การเลี้ยงผีปู้แสะ-ย่าแสะ มีการถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี โดยจะทำกันในเดือนเก้าเหนือ เนื่องจากเชื่อว่าในอดีตชนเผ่าลัวะในเมืองบุพพนคร ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิง และดอยอ้อยช้าง อยู่กันแบบไม่เป็นสุข เพราะถูกยักษ์พ่อ-แม่-ลูก (ชาวเมืองเรียกยักษ์พ่อและแม่ว่า ปู่แสะ ย่าแสะ) จับเอาชาวเมืองไปกินทุกวันๆ จนต้องหนีออกจากเมือง ต่อมา พระพุทธเจ้า รับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมืองลัวะ จึงได้เสด็จมาโปรด และแสดงอภินิหารธรรมให้ยักษ์ 3 ตนได้เห็น จนยักษ์ 3 ตนนั้นเกิดความเลื่อมใส ยอมสมาทานศีลห้าสืบไป
ต่อมา ยักษ์ทั้ง 3 ตนนึกได้ว่า พวกตนเป็นยักษ์ต้องประทังชีวิตด้วยการกินเนื้อ จึงได้ขอพระพุทธเจ้ากินควายปีละ 1 ตัว และก็จะดูแลชาวบ้านชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ให้ไปถามเจ้าเมืองแทน ยักษ์ทั้ง 3 ตนจึงได้ไปขอกับเจ้าเมืองลัวะ ซึ่งทางเจ้าเมืองก็ได้นำควายมาถวายให้ปีละ 1 ตัว หลังสิ้นสมัยปู่แสะ-ย่าแสะ แล้วชาวบ้านชาวเมืองก็ยังเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์อยู่ และหวังให้ปู่แสะ-ย่าแสะ ช่วยรักษาพระพุทธศาสนาพร้อมช่วยกันดูแลชาวบ้านชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงได้มีพิธีเซ่นดวงวิญญานที่เรียกกันว่า เลี้ยงดง ที่ดงหลวงใกล้ๆ กับดอยคำ ทิศใต้ของดอยสุเทพ นครเชียงใหม่ในเดือนเก้าออกทุกปี
โดยชาวบ้านที่เกี่ยวข้องจะนำเครื่องเซ่นไหว้คือ ควายกีบเผิ้ง หรือควายหนุ่มที่มีกีบเท้าสีเหลือง เขาควายยาวเท่าหู พร้อมกับเครื่องพลีกรรมอื่นๆ กล้วย อ้อย ของหวาน พร้อมกับผืนผ้ามาแต้มเป็นรูปพระบฏ ให้ดูเหมือนพระพุทธเจ้า เสด็จมาร่วมพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ หรือชาวบ้านเรียกผืนผ้ากันว่า ตุงพระบฏมาแขวนให้แกว่งไปมาเหมือนดั่งภาพมีชีวิตด้วย