ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เทศบาลเมืองแม่เหียะ พร้อมชาวบ้านร่วมทำพิธี “เลี้ยงดง” ชำแหละควายหนุ่มเขาเสมอหูเลี้ยงวิญญาณ “ปู่แสะ-ย่าแสะ” ยักษ์สองสามีภรรยา ที่เชื่อว่าปกปักรักษาชุมชนให้ร่มเย็นเป็นสุข ท่ามกลางศรัทธาชาวบ้าน นักท่องเที่ยวแห่ดูกันนับพันคน แม้แต่ต่างชาติยังแห่ทำข่าว
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่ พร้อมชาวบ้าน ร่วมทำพิธี “เลี้ยงดง” โดยมีการนำควายหนุ่มมีเขาเสมอหูมาชำแหละ เพื่อทำพิธีกรรมเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ ยักษ์สองสามีภรรยา ที่เชื่อว่าคอยปกปักรักษาผืนป่าบริเวณเชิงเขาวัดดอยคำ หรือผืนป่าบริเวณบ้านแม่เหียะใน ต.แม่เหียะ ให้เกิดความร่มเย็น ซึ่งถือเป็นกุศโลบายในการรักษาผืนป่าไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกหรือตัดไม้ทำลายป่า
ซึ่งพิธีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน และนักท่องเที่ยวนับพันคนที่มารอชม และพากันถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก คือ พิธีลงขอนหรือการทำพิธีผ่านร่างทรง คือ นายเทิดศักดิ์ มูลเขียว อายุ 44 ปี ที่เป็นร่างทรงให้ยักษ์ลงมาสิงสถิต จากนั้นร่างทรงก็จะลงไปขี่หลังควายที่ชำแหละไว้แล้วเพื่อให้ร่างทรงยักษ์ได้กินเนื้อควายแบบสดๆ ซึ่งในระหว่างที่ทำพิธีกรรมอยู่นั้นมีบางคนเกิดอาการคล้ายเป็นร่างทรง ต่างแสดงอาการเหมือนคนถูกประทับร่างทรง บางคนมีการลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลง บางคนก็นอนดิ้นกลิ้งไปกับพื้นแล้วลุกขึ้นมารำต่อ
ทั้งนี้ “ประเพณีเลี้ยงดง” ของชาวบ้าน ต.แม่เหียะ ตามตำนานที่เล่าขานกันนั้น เรื่องราวของปู่แสะย่าแสะเกิดขึ้นในอดีตที่เมืองบุพพนคร เป็นเมืองของชนเผ่าลัวะ ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในแถบนี้ ได้ถูกจับกินโดยยักษ์สามตนพ่อแม่ลูกเป็นประจำทุกวัน
เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านมาจึงได้ทรงแสดงธรรมโปรดยักษ์สามตนจึงได้ขอว่า ในแต่ละปีจะขอกินควายเผือกเขาดำ เป็นควายตัวผู้มีเขาเสมอใบหูปีละตัวเท่านั้น โดยยักษ์จะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี ตลอดจนรักษาดูแลผู้คน และบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข
ส่วนยักษ์ผู้ลูกก็ได้บวชเป็นพระ และต่อมาได้ลาสิกขาออกมาดำรงตนเป็นฤาษีนามว่า สุเทพฤาษีที่ดอยช้าง หรือดอยเหนือ ซึ่งต่อมาก็ได้ชื่อว่า ดอยสุเทพ ตามนามของสุเทพฤาษีนั่นเอง จึงก่อเกิดขึ้นมาเป็นประเพณีเลี้ยงดงเพื่อบวงสรวงยักษ์สองตนคือ ปู่แสะและย่าแสะ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน