xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สนั่น! ทม.แม่เหียะ จัดพิธีโบราณล้านนา “เลี้ยงดง บวงสรวงปู่แสะ-ย่าแสะ 58” คลาดเคลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ-ประเพณีเลี้ยงดง บวงสรวงปู่แสะ-ย่าแสะ ในปีที่ผ่านๆมา
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการล้านนาคดี พระสงฆ์ คนทรงเจ้าพิธีวิจารณ์กันสนั่น ทม.แม่เหียะ กำหนดจัดงานเลี้ยงดง บวงสรวงปู่แสะ-ย่าแสะ ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณล้านนา ส่อคลาดเคลื่อน ชี้วันขึ้น 14 ค่ำเดือน 9 ปีอธิกมาสเดือน 8 สองหน ที่ถือเป็นวันจัดงานตั้งแต่โบร่ำโบราณผ่านมาแล้ว แต่เทศบาลฯ กลับประกาศจัด 29 มิ.ย.นี้

วันนี้ (20 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายยงยุทธ คุณรา รองนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ และประธานสภาวัฒนธรรม ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ ได้แถลงเตรียมจัดงานประเพณีเลี้ยงดงเพื่อเป็นการบวงสรวงปู่แสะ-ย่าแสะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ ในวันที่ 29 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่ 07.00 น.เป็นต้นไป

โดยจะอัญเชิญตุงพระบฏไปยังศาลปู่แสะย่าแสะ และจะทำพิธีบวงสรวง หลังจากนั้นจะอัญเชิญตุงพระบฏไปยังลานเลี้ยงดง หมู่ 4 บ้านแม่ยางใน ที่มีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ในบริเวณงาน ซึ่ง พระครูสุนทร เจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยคำ นำคณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ก่อนทำพิธีบวงสรวงปู่แสะย่าแสะ ที่มีเครื่องเซ่นไหว้เป็นควายหนุ่มเขาเพียงหู ซึ่งจะถูกนำมาเชือดและเฉือนกินเนื้อสดๆ โดยผู้นำทำพิธี

ทั้งนี้ ประเพณีเลี้ยงดงนี้นอกจากจะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านรู้จักรักษาหวงแหนป่า ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย โดยทางเทศบาลเมืองแม่เหียะ คาดหวังว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมาร่วมพิ ธีและรับชมงานนับหมื่นๆ คน

นายยงยุทธ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การกำหนดประเพณีเลี้ยงดงนั้นให้ถือตามเหตุผลหลักๆ 2 ข้อคือ 1.ต้องจัดหลังวันประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ และหลังวันวิสาขบูชา 2.ต้องจัดหลังวันสรงน้ำวัดพระธาตุดอยคำ (แรมขึ้น 8 ค่ำ เดือน 9) ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการนี้ จึงทำให้กำหนดงานวันประเพณีเลี้ยงดงในปีนี้เป็นวันที่ 29 มิ.ย.ตามที่ได้แถลงข่าวออกไป

แต่ล่าสุด กำหนดการจัดงานพิธีบวงสรวงเลี้ยงดงปีนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่ของผู้ที่สนใจและศึกษาในงานประเพณีนี้ เพราะมองว่ากำหนดการจัดงานที่ดูเหมือนจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงตามประเพณีที่สืบต่อกันมา บรรดาผู้ที่สนใจในประเพณีล้านนา ทั้งพระสงฆ์ ชาวบ้าน เจ้าทรง รวมทั้งนักวิชาการด้านล้านนาคดี ได้มีการแสดงความเห็นไปในเชิงว่า การกำหนดวันในการจัดประเพณีเลี้ยงดงของปีนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากธรรมเนียมดั้งเดิมถึง 1 เดือนเต็ม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วน่าจะจัดไปในวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว

ด้าน นายณัฐพงษ์ ปัญจบุรี นักวิชาการด้านล้านนาคดี ได้ให้ข้อมูลอีกด้านว่า ประเพณีเลี้ยงดง เป็นประเพณีที่จัดเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 9 เหนือ ซึ่งหากนับตามเดือนของภาคกลางก็ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 7 เนื่องจากการนับเดือนของทางล้านนา จะเร็วกว่าเดือนของภาคกลาง 2 เดือน ซึ่งวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 9 เหนือของปีนี้ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม 2558

โดยในแต่ละปีคนในท้องถิ่นมักจะจดจำกันว่า ประเพณีเลี้ยงดงจะจัดหลังจากวันวิสาขบูชา 1 เดือน แต่เนื่องจากในปี พ.ศ.2558 เป็นปีอธิกมาส กล่าวคือ เป็นปีที่มีเดือนซ้ำกัน 2 หน ทำให้วันวิสาขบูชาของปีนี้เลื่อนช้าออกไป 1 เดือน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 เหนือ (วันที่ 1 มิถุนายน 2558)

ดังนั้น ประเพณีเลี้ยงดงที่ยึดถือกันว่าต้องจัดในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 9 เหนือนั้น ในปี 2558 ก็คือ วันก่อนหน้าวันวิสาขบูชา 1 วันนั่นเอง ส่วนการยึดว่าทุกๆ ปีจะต้องจัดประเพณีเลี้ยงดงหลังวันวิสาขบูชา 1 เดือน จะใช้ไม่ได้กับปีที่เป็นอธิกมาส (ปีอธิกมาสคือ ปีที่มีเดือน 8 สองหน ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี)

ทางด้าน พระครูอดุลสีลกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ พระผู้ใหญ่ที่ได้รับการนับถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิทิน และวัฒนธรรมประเพณีล้านนา เปิดเผยว่า ประเพณีการเลี้ยงดงนั้นควรยึดถือตามแบบอย่างประเพณีโบราณล้านนา คือ จัดให้มีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่หลังประเพณีการเดินขึ้นดอยสุเทพ หรือวันวิสาขบูชาแต่อย่างใด เพราะปีที่เป็นอธิกมาสเดือนจะเลื่อนไปอีก 1 เดือน ซึ่งถ้าจัดในวันที่ 29 มิถุนายน ก็จะกลายเป็นการจัดในเดือน 10 ตามปฏิทินล้านนา ซึ่งผิดจากประเพณีเก่าแก่โบร่ำโบราณที่จัดประเพณีนี้ในเดือน 9 เท่านั้น

พระครูอดุลสีลกิตติ์ ได้ยกตัวอย่างโดยกล่าวถึงประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย ที่จังหวัดลำพูนว่า ปกติก็จะจัดในวันแปดเป็ง คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ซึ่งจะตรงกับวันวิสาขบูชาพอดี เป็นเวลา 3 ปีติดกัน แต่พอเข้าปีที่ 4 ซึ่งจะเป็นปีอธิกมาสแปด 2 หน ก็ยังยึดมั่นกับประเพณีดั้งเดิมล้านนา คือจัดให้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เช่นเดิม โดยที่ไม่ตรงกับวันวิสาขบูชา ซึ่งจะเลื่อนไปอีก 1 เดือนคือ ไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินล้านนา ไม่ได้เลื่อนไปจัดโดยยึดเอาวันวิสาขบูชาเป็นหลักใหญ่แต่ประการใดเลย

อนึ่ง ตามตำนานที่เล่าขานกันต่อมาจนเกิดเป็นประเพณีสำคัญของชาวบ้านในเขตตำบลแม่เหียะ และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ โดยเรื่องราวของปู่แสะย่าแสะ เกิดขึ้นในอดีตที่เมืองบุพพนคร เป็นเมืองของชนเผ่าลัวะ ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในแถบนี้ ได้ถูกจับกินโดยยักษ์สามตนพ่อแม่ลูกเป็นประจำทุกวัน

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านมา จึงได้แสดงธรรมโปรดยักษ์สามตนจึงได้ขอว่า ในแต่ละปีจะขอกินควายเผือกเขาดำ เป็นควายตัวผู้มีเขาเสมอใบหูปีละตัวเท่านั้น โดยยักษ์จะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี ตลอดจนรักษาดูแลผู้คน และบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข

ส่วนยักษ์ผู้ลูกก็ได้บวชเป็นพระ และต่อมาได้ลาสิกขาออกมาดำรงตนเป็นฤาษีนามว่า สุเทพฤาษีที่ดอยช้าง หรือดอยเหนือ ซึ่งต่อมาก็ได้ชื่อว่า ดอยสุเทพ ตามนามของสุเทพฤาษีนั่นเอง จึงก่อเกิดขึ้นมาเป็นประเพณีเลี้ยงดงเพื่อบวงสรวงยักษ์สองตนคือ ปู่แสะและย่าแสะ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

โดยประเพณีเลี้ยงดง เพื่อบวงสรวงปู่แสะย่าแสะ สมัยก่อนจัดกันเป็นการภายใน มีชาวบ้านในแถบตำบลแม่เหียะ และใกล้เคียงมาร่วมงานเท่านั้น แต่ในระยะหลังนี้มีการแพร่กระจายของข่าวสารออกไปอย่างรวดเร็วในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ประเพณีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง เพราะช่วงที่บวงสรวงมีการเชือดควาย และผู้ทำพิธีก็กินเนื้อควายสดๆ เมื่อมีภาพเผยแพร่ออกไปตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีผู้คนสนใจมาร่วมชมงานประเพณีเลี้ยงดงเป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น