xs
xsm
sm
md
lg

ทม.แม่เหียะเดินหน้าจัดพิธี “เลี้ยงดง-บวงสรวงปู่แสะ ย่าแสะ” ไม่สนวันคลาดเคลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - เทศบาลฯ พร้อมชาวบ้านแม่เหียะ ร่วมทำพิธี “เลี้ยงดง” ชำแหละควายหนุ่มเขาเสมอหูเลี้ยงวิญญาณ “ปู่แสะ-ย่าแสะ” ยักษ์สองสามีภรรยา ที่เชื่อว่าปกปักรักษาชุมชนให้ร่มเย็นเป็นสุข ท่ามกลางศรัทธาชาวบ้าน นักท่องเที่ยวแห่ดูกันนับพันคน แม้ถูกวิจารณ์กำหนดจัดงานคลาดเคลื่อน

วันนี้ (29 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลเมืองแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้ประกอบพิธีทางศาสนา และจัดพิธีเลี้ยงดงขึ้น โดยมีพระครูสุนทร เจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยคำ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

โดยมีการนำควายหนุ่มมีเขาเสมอหูมาชำแหละ เพื่อทำพิธีกรรมเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ ยักษ์สองสามีภรรยา ที่เชื่อว่าคอยปกปักรักษาผืนป่าบริเวณเชิงเขาวัดดอยคำ หรือผืนป่าบริเวณบ้านแม่เหียะใน ต.แม่เหียะ ให้เกิดความร่มเย็น ซึ่งถือเป็นกุศโลบายในการรักษาผืนป่าไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกหรือตัดไม้ทำลายป่า

ซึ่งพิธีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน และนักท่องเที่ยวนับพันคนที่มารอชม และพากันถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก คือ พิธีลงขอนหรือการทำพิธีผ่านร่างทรง คือ นายเทิดศักดิ์ มูลเขียว อายุ 44 ปี ที่เป็นร่างทรงให้ยักษ์ลงมาสิงสถิต จากนั้นร่างทรงก็จะลงไปขี่หลังควายที่ชำแหละไว้แล้วเพื่อให้ร่างทรงยักษ์ได้กินเนื้อควายแบบสดๆ

ทั้งนี้ “ประเพณีเลี้ยงดง” ของชาวบ้าน ต.แม่เหียะ ตามตำนานที่เล่าขานกันนั้น เรื่องราวของปู่แสะย่าแสะเกิดขึ้นในอดีตที่เมืองบุพพนคร เป็นเมืองของชนเผ่าลัวะ ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในแถบนี้ ได้ถูกจับกินโดยยักษ์สามตนพ่อแม่ลูกเป็นประจำทุกวัน

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านมา จึงได้ทรงแสดงธรรมโปรดยักษ์สามตนจึงได้ขอว่า ในแต่ละปีจะขอกินควายเผือกเขาดำ เป็นควายตัวผู้มีเขาเสมอใบหูปีละตัวเท่านั้น โดยยักษ์จะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี ตลอดจนรักษาดูแลผู้คน และบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข

ส่วนยักษ์ผู้ลูกก็ได้บวชเป็นพระ และต่อมาได้ลาสิกขาออกมาดำรงตนเป็นฤาษีนามว่า สุเทพฤาษีที่ดอยช้าง หรือดอยเหนือ ซึ่งต่อมาก็ได้ชื่อว่า ดอยสุเทพ ตามนามของสุเทพฤาษีนั่นเอง จึงก่อเกิดขึ้นมาเป็นประเพณีเลี้ยงดงเพื่อบวงสรวงยักษ์สองตนคือ ปู่แสะและย่าแสะ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งกำหนดการจัดงานประเพณีเลี้ยงดงทุกปีที่ผ่านมานั้น เป็นที่รับรู้กันว่าจะจัดหลังจากวันวิสาขบูชา 1 เดือน แต่เนื่องจากในปี 2558 เป็นปีอธิกมาส กล่าวคือ เป็นปีที่มีเดือน 8 ซ้ำกัน 2 หน ทำให้วันวิสาขบูชาของปีนี้เลื่อนช้าออกไป 1 เดือน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 เหนือ (วันที่ 1 มิถุนายน 2558) นั่นหมายถึง กำหนดการจัดงานประเพณีเลี้ยงดงที่เคยถือปฏิบัติกันมาดั้งเดิม จะตรงกับวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

แต่ปีนี้เทศบาลเมืองแม่เหียะจัดประเพณีเลี้ยงดงในวันนี้ (29 มิ.ย.) โดยยืนยันว่าเป็นการถือตามเหตุผลหลักๆ 2 ข้อ คือ 1. ต้องจัดหลังวันประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ และหลังวันวิสาขบูชา 2. ต้องจัดหลังวันสรงน้ำวัดพระธาตุดอยคำ แรม-ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 9










กำลังโหลดความคิดเห็น