วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ นายพงษ์ศักดิ์ ทิสานนท์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ นายสุรเดช เคราะห์ดี ตัวแทนภาคประชาชน พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเกษตรกร แรงงาน ข้าราชการ ธุรกิจ ผู้ประกอบการ แพทย์ พยาบาล นักเรียนนักศึกษา กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง นักวิชาการ ผู้นำทางความคิด ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชน ภิกษุ นักบวช ผู้นำทางศาสนา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 1,200 คน ร่วมกันจัดเวทีพูดจาหาทางออกประเทศไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่จะทำให้การสร้างความปรองดองแห่งชาติประสบความสำเร็จ
นายพงษ์ศักดิ์ ทิสานนท์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าคณะวิทยากรกระบวนการเวทีพูดจาหาทางออกประเทศไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศขาดความมั่นคง และสูญเสียอำนาจการแข่งขัน
ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ประชาชนคนไทยจะต้องมีความปรองดองหันหน้าเข้าหากัน เพื่อเปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสที่จะฟื้นฟูความสงบสุข และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศให้กลับคืนมา
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร และสถาบันพระปกเกล้า ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาปัจจัย และแนวทางที่จะทำให้การสร้างความปรองดองแห่งชาติประสบความสำเร็จได้สรุปประเด็นปัญหาความขัดแย้งใน 10 ประเด็น
ได้แก่ ความเข้าใจประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน ความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรม ตุลาการภิวัฒน์ การแทรกแซงองค์กรอิสระ การรัฐประหารและบทบาทของทหารในการจัดการความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายตัวของสื่อการเมืองและสื่อบุคคล การกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สังคมขาดความองค์ความรู้ในการจัดการความขัดแย้งและสันติวิธี ความขัดแย้งแบบเดิมพันสูง
จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัด ร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดขอนแก่น ได้กำหนดจัดเวทีพูดจาหาทางออกประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน และวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายนนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้แทนจากภาคเกษตรกร แรงงาน ข้าราชการ ธุรกิจ ผู้ประกอบการ แพทย์ พยาบาล นักเรียนนักศึกษา กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง นักวิชาการ ผู้นำทางความคิด ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชน ภิกษุ นักบวช ผู้นำทางศาสนา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 1,200 คน
ทั้งนี้ มีรูปแบบการจัดเวทีแบบเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ได้พูดจาในประเด็นหลัก 10 ประเด็นดังกล่าว เพื่อให้วิทยากรกระบวนการ จำนวน 20 คน ของกลุ่มจังหวัดได้สรุปและรายงานผลการจัดเวทีต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อไป” รองอธิการบดีกล่าว
ด้านนายบำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า เวทีพูดจาหาทางออกประเทศไทยครั้งนี้ ตนมองว่าเป็นการเปิดเวทีสร้างความชอบธรรมในการที่จะหาแนวร่วมการแก้กฎหมายนิรโทษกรรม อ้างสร้างความปรองดอง ซึ่งหากมีการแก้กฎหมายดังกล่าวได้จริงจะทำให้ประเทศชาติพังเสียหาย เพราะปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ การพยายามแก้กฎหมาย และออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั่นเอง