ศีล ๕ หรือ เบญจศีล ซึ่งแผลงมาจากคำว่า “ปญฺจ สีลานิ” นี้ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกส่วนมากเรียกว่า สิกขาบท ๕ คือองค์แห่งศีลอย่างหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อห้ามเพื่อการฝึกฝนตน หรือบทฝึกฝนอบรมตนของพุทธศาสนิกชน ฝ่ายคฤหัสถ์ ๕ ข้อ
ศีล ๕ หรือ เบญจศีล นี้เป็นมาตรฐานอย่างต่ำสำหรับการจัดระเบียบชีวิตและสังคมของมนุษย์ ให้อยู่ในสภาพที่เอื้อโอกาสขั้นพื้นฐาน ในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม หรือทำการพัฒนาไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ทางจิตใจหรือทางวัตถุก็ตาม เป็นศีลขั้นพื้นฐานของศีลทั้งปวง
• ข้อห้ามในศีล ๕
ศีลข้อที่ ๑ : เว้นจาการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป หมายถึง การห้ามฆ่าสัตว์ ทั้งการฆ่ามนุษย์และการฆ่าสัตว์ดิรัจฉานที่มีชีวิตอยู่ทุกเพศทุกชนิด โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๕ ข้อ คือ
๑) ปาโณสัตว์มีชีวิต
๒) ปาณสญฺญิตารู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓) วธกจิตฺตํมีจิตคิดจะฆ่า
๔) อุปกฺกโมทำความพยายามฆ่า
๕) เตน มรณํสัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
การฆ่าสัตว์มีชีวิตพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อนี้ ศีลจึงขาด ถ้าไม่ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ นี้ แม้องค์ใดองค์หนึ่ง เช่น ไม่มีจิตคิดจะฆ่า เป็นต้น เช่นนี้ ศีลไม่ขาด
ศีลข้อที่ ๒ : เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย หมายถึง การห้ามลักทรัพย์ทุกชนิดที่เจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด หรือห้ามถือเอาสิ่งของที่ไม่มีผู้ให้ด้วยโจรกรรม คือการกระทำอย่างโจรทุกอย่าง ได้แก่ การลัก ฉก ชิง วิ่งราว หรือปล้นชิงทรัพย์ เป็นต้น โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๕ ข้อ คือ
๑) ปรปริคฺคหิตํของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒) ปรปริคฺคหิตสญฺญิตารู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน
๓) เถยฺยจิตฺตํมีจิตคิดจะลัก
๔) อุปกฺกโมทำความพยายามหลัก
๕) เตน หรณํนำของมาได้ด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อที่ ๓ : เว้นจากการประพฤติผิดในกาม หมายถึง การห้ามประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ห้ามประพฤติผิดทางเพศ ห้ามประพฤติผิดประเวณีในบัตรหลานของผู้อื่น ห้ามประพฤติเป็นชู้ในคู่ครองคือสามีภรรยาของผู้อื่น รวมถึงการห้ามสำส่อนทางเพศ ซึ่งกล่าวให้ชัด ได้แก่ ห้ามผิดประเวณีลูกหลานเขา ห้ามเป็นชู้สู่สมในคู่ครองเขา โดนมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ
๑) อคมนียวตฺถุวัตถุที่ไม่ควรล่วงละเมิด
๒) ตสฺมึ เสวนจิตฺตํมีจิตคิดจะเสพ
๓) เสวนปฺปโยโคพยายามที่จะเสพ
๔) มคฺเคน มคฺคปฺปฏิปตฺติ กระทำการให้มรรคต่อมรรคจดกัน
องค์ที่ ๑ หมายถึง หญิงหรือชายผู้ที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศด้วยนั้นเป็นบุคคลต้องห้าม เช่น เป็นสามีหรือภรรยาของผู้อื่น หรือเป็นผู้ที่มีบิดามารดาญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ปกครองหวงแหนอยู่ หรือเป็นผู้ต้องห้ามด้วยเหตุอื่นๆ เช่น เป็นนักพรตหรือนักบวช
องค์ที่ ๔ หมายถึง กำหนดเอาอาการที่อวัยวะเพศของทั้งสองฝ่ายเนื่องถึงกัน (แม้จะยังไม่สำเร็จความใคร่ก็ตาม)
ศีลข้อนี้จะขาดต่อเมื่อมีการกระทำครบองค์ทั้ง ๔ นี้
ศีลข้อที่ ๔ : เว้นจากการพูดเท็จ หมายถึง การสำรวมระวังในการใช้คำพูดที่เว้นจากการพูดเท็จ พูดปด พูดโกหกหลอกลวงผู้อื่นให้เสียประโยชน์ หรือห้ามพูดเท็จนั่นเอง ซึ่งเป็นการแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบือนความจริงให้คนอื่นหลงเชื่อ
โดยแสดงออกได้ทั้ง ทางวาจา คือพูดโกหกชัดๆ พูดเท็จพูดปดตรงๆ และทางกาย คิดทำเท็จทางกาย เช่น การเขียนจดหมายลวง การทำรายงานเท็จ การสร้างหลักฐานปลอม การโฆษณาชวนเชื่อเกินความจริงทางสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือเมื่อมีใครถามข้อความที่ควรรับ ก็สั่นศีรษะแสดงอาการปฏิเสธ โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ
๑) อตถํเรื่องไม่จริง
๒) วิสํวาทนจิตฺตํจิตคิดจะพูดให้ผิด
๓) ตชฺโช วายาโมพยายามพูดออกไปตามจิตนั้น
๔) ปรสฺส ตตฺถวิชานนํผู้ฟังเข้าใจเนื้อความนั้น
ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๔ นี้ ศีลไม่ขาด เช่น ทราบเรื่องที่เป็นเท็จมาโดยตนคิดว่าเป็นเรื่องจริง จึงพูดไปโดยไม่มีเจตนาจะหลอกลวงหรือพูดเท็จออกไป แต่ผู้ฟังไม่เข้าใจ เพราะไม่รู้ภาษากัน เช่นนี้ศีลไม่ขาด
ศีลข้อที่ ๕ : เว้นจากดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หมายถึง การงดเว้นไม่ดื่มน้ำเมาหรือห้ามดื่มน้ำเมา ที่เรียกตามศัพท์บาลีว่า “มัชชะ” แปลว่า น้ำอันยังผู้ดื่มให้มึนเมา ซึ่งจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ สุราและเมรัย
“สุรา” ได้แก่ น้ำเมาที่เรียกว่า เหล้า ส่วน “เมรัย” ได้แก่ น้ำเมาประเภทเบียร์ หรือกล่าวง่ายๆ ศีลข้อนี้ห้ามดื่มเหล้าและเบียร์ รวมถึงห้ามเสพยาหรือสารเสพติดให้โทษทุกชนิด โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ
๑) มทนียํสิ่งที่เป็นเหตุให้มึนเมา
๒) ปาตุกมฺยตาจิตฺตํจิตคิดจะดื่มหรือเสพ
๓) ตชฺโช วายาโมพยายามดื่มหรือเสพตามที่จิตคิดนั้น
๔) ปิตปฺปเสวนํดื่มน้ำเมา หรือเสพสารเสพติดนั้นเข้าไป
• จุดมุ่งหมายของการรักษาศีล ๕
นักปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ได้ชี้จุดสำคัญที่คนเราจะต้องสร้างพื้นฐานไว้ให้มั่นคง เป็นพิเศษ ๕ จุด ซึ่งเป็นการปิดช่องทางที่จะทำให้ตนเองเสียหาย ๕ ทางด้วยกัน โดยวิธีที่ว่านี้ก็คือ การรักษาศีล ๕ คือ
ศีลข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต หรือห้ามฆ่าสัตว์ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความโหดร้าย ไร้เมตตา
ศีลข้อที่ ๒ เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจรขโมย หรือห้ามลักทรัพย์ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะอาชีพทุจริต จิตคิดลักขโมย
ศีลข้อที่ ๓ เว้นจากการประพฤติในกาม หรือห้ามประพฤติผิดทางเพศ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความเจ้าชู้ สำส่อนทางเพศหรือมักมากในกาม
ศีข้อที่ ๔ เว้นจากการกล่าวคำเท็จ หรือห้ามพูดเท็จ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะคำพูดโกหกหลอกลวง
ศีลข้อที่ ๕ เว้นจากดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย หรือห้ามดื่มน้ำเมา เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความมึนเมาประมาทขาดสติยับยั้งชั่งใจในการทำชั่ว
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชีวิตของคนเรามักจะพังวิบัติล่มจมประสบความพินาศไปเพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ คือ (๑) ความโหดร้ายในจิตสันดาน (๒) ความละโมบอยากได้ทรัพย์ของคนอื่นในทางที่ผิดๆ (๓) ความร่านร้อนในทางกามารมณ์เกี่ยวกับเพศตรงข้าม (๔) ความไม่มีสัจจะประจำใจ (๕) ความประมาทขาดสติสัมปชัญญะ
วิธีแก้ ก็คือการหันเข้ามาปรับพื้นฐานจิตสันดานของตนโดยวิธีรักษาเบญจศีล เพราะการรักษาเบญจศีล หรือศีล ๕ นอกจากจะมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันรักษาตนไม่ให้เสียหายแล้ว ยังมีผลทำให้ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ตลอดถึงสังคมโลกดำรงอยู่อย่างปกติสุข และเป็นพื้นฐานให้ตนบำเพ็ญหลักไตรสิกขาขั้นสูง คือสมาธิและปัญญาได้อย่างดี เมื่อบำเพ็ญหลักไตรสิกขาให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด
(จากหนังสือ คู่มือพุทธศาสนิกชน)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)