xs
xsm
sm
md
lg

“เปิดพื้นที่ขุดค้น-เคารพประวัติศาสตร์” ความเห็นตั้งต้นเวทีเสวนาพัฒนา “ข่วงหลวงเวียงแก้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - หลายฝ่ายเสนอความเห็นเวทีเสวนา พัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วเชียงใหม่ คณะทำงานเผยผลศึกษาพบหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องเริ่มจาก “เปิดพื้นที่ศึกษา-เคารพประวัติศาสตร์” ด้านนักวิชาการกรมศิลป์ชี้จะใช้พื้นที่ได้-ไม่ได้ต้องดูคุณค่าความสำคัญและแผนการใช้งาน ส่วนนักวิชาการอิสระระบุ ต้องตอบให้ได้จะใช้ประวัติศาสตร์ช่วงไหนเป็นหลักในการศึกษา

วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงใหม่ว่า ประชาชนและผู้สนใจจำนวนมากเข้าร่วมเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” ซึ่งจัดขึ้นที่ลานกิจกรรมหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ หลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมีการนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วอย่างหลากหลาย

การจัดเวทีสัมมนาดังกล่าว สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นการจัดเวทีครั้งแรกของโครงการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็น แนวคิดการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งกำหนดว่าจะมีการสำรวจความคิดด้วยวิธีการจัดเวที 3 ครั้ง ในวันที่ 12, 19 มิถุนายน และวันที่ 7 กรกฎาคม

ทั้งนี้ ช่วงต้นของการเสวนาคณะทำงานของโครงการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น เปิดเผยต่อผู้เข้าร่วมว่า นับตั้งแต่ทำการเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกแล้ว 1 ครั้ง โดยเป็นการพูดคุยกับคณะทำงานหนังสือ 100 ปี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งเมื่อนำข้อเสนอมาพิจารณาร่วมกับข้อสรุป ที่ได้จากการจัดเสวนาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พบว่ามีข้อสรุปที่สอดคล้องกันรวม 5 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 2. ต้องให้ความสำคัญและเคารพความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ 3. หากมีการรื้อถอนต้องทำการศึกษาอย่างรอบด้าน รวมทั้งต้องเก็บหลักฐานระหว่างการรื้อถอนอย่างเป็นระบบ 4. ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการรื้อถอน และ 5. การขยายหรือพัฒนาพื้นที่จะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่เวทีเสวนาซึ่งมี รศ.สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ และ ดร.พันทวี มะไพโรจน์ จากทีมงานชำระประวัติศาสตร์ร้อยปี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ร่วมเสวนานั้น ได้มีการนำเสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจ โดยนายสายกลางกล่าวว่า เท่าที่ศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วพบว่ามีจุดร่วมที่ตรงกันคือ ควรจะเปิดพื้นที่เพื่อทำการสำรวจในเชิงประวัติศาสตร์ก่อน ซึ่งหากพบว่ามีโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ พื้นที่ดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นโบราณสถานที่จะต้องอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร

นายสายกลางกล่าวว่า การอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถพัฒนาหรือก่อสร้างใดๆ ได้ เพราะที่ผ่านมามีทั้งพื้นที่ที่เปิดเป็นโบราณสถานเต็มรูปแบบโดยต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ออกทั้งหมด กับพื้นที่ที่ยินยอมให้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นในพื้นที่ได้ ซึ่งการพิจารณาว่าจะเปิดพื้นที่เป็นโบราณสถาน หรือพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านอื่นนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งสภาพหรือขนาดของโบราณสถาน ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โครงการมีผลทำให้โบราณสถานถูกรื้อถอนทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่าหรือไม่

ด้าน ดร.พันทวีกล่าวว่า การจะดำเนินโครงการใดๆ ต้องตกลงกันให้ได้ก่อนว่าจะใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุดไหน เพราะหากพิจารณาจากประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยแล้วอาจไม่ตรงกัน รวมทั้งขนาดพื้นที่ก็ไม่เท่ากัน เช่น ยุคที่พม่าปกครองเชียงใหม่ก็ไม่มีเวียงแก้ว เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แน่นอน แต่จะกินอาณาบริเวณกว้างขวางแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ช่วงใด ซึ่งการพัฒนาอาจจะไม่ใช่เฉพาะบริเวณทัณฑสถานหญิงเดิมเท่านั้น แต่อาจจะพัฒนาไปจนถึงพื้นที่ของอำเภอเมือง หรือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยจะต้องเคารพของเดิมที่เคยมีมา รวมทั้งการพัฒนาต้องวางแผนในระยะยาว และทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

กำลังโหลดความคิดเห็น