ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้าน อ.เกาะสีชัง ยกพลกว่า 100 คน ร้องเรียน ผวจ.ชลบุรี เร่งคดีนายทุนออกโฉนดทับที่ดินแนวเขตพระราชวังจุฑาธุชฐาน ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้เป็นมรดก คดีนานกว่า 15 ปีไม่คืบ ทำให้การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไม่เจริญ
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดชลบุรี ชาวบ้านของ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี กว่า 100 คน เดินทางมามอบหนังสือร้องเรียนต่อ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้ประสานงานติดตามแก้ไขปัญหา อุปสรรค เรื่องตระกูลใหญ่ “หงส์ลดารมภ์” ออกโฉนดที่ดินทับแนวสถานโบราณเขตพระราชวังจุฑาธุชราชฐาน ที่พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้แปรพระราชฐาน จนกลายเป็นสถานโบราณที่เก่าแก่และสวยงามเป็นสมบัติล้ำค่ามีคุณค่าทางจิตใจของชาวเกาะสีชัง และพี่น้องคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก จนเป็นเรื่องฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 2535 เนิ่นนานกว่า 20 ปีแล้ว จนปัจจุบันศาลก็ยังไม่มีการตัดสินคดีแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีช่วยติดตาม เร่งรัดการพิจารณาคดีนั้นศาลฎีกาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเปิดโอกาสให้คนเกาะสีชังที่รักและหวงแหนพระจุฑาราชฐาน โบราณ และโบราณวัตถุอันล้ำค่าทั้งหลายของเกาะสีชัง มีส่วนร่วมในการพัฒนาพระจุฑาธุชราชฐานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติ
จากหลักฐาน และในราชกิจจานุเบกษาระบุชัดเจนว่า พื้นที่บนเกาะสีชังเป็นที่พระราชวัง นอกจากนั้น ยังมีกฤษฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าพื้นที่ที่มีการออกโฉนดนั้นถือว่าโมฆะ ส่วน ส.ค.1 ที่ครอบครองอยู่ไม่สามารถอ้างสิทธิการถือครองได้ แต่ในช่วงนั้นไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปการดำเนินการแต่อย่างใด และมีการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับภาคเอกชนที่ครอบครองที่ดินอย่างต่อเนื่อง
เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานถึง 15 ปีแล้ว โดยในช่วงปี 2535 โดยมีชาวบ้านบนเกาะสีชัง ได้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า บริษัท สีชังทองเทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นคนในตระกูลหงส์ลดารมภ์ บุกรุกที่ดินในเขตพระราชวังจุฑาธุชราชฐานจำนวนมาก และหลังจากนั้นก็มีการฟ้องร้อง และดำเนินคดีกันมา จนในปี 2540 ได้มีการฟ้องทางแพ่งในการเรียกค่าเสียหายในการระเบิดภูเขา และทำลายสภาพแวดล้อม จนกระทั่งถึงปี 2548 นี้ และมีการฟ้องทางอาญาด้วย โดยมีการสืบโจทก์ และคาดว่าภายในปีนี้คดีความต่างๆ คงจะเรียบร้อย
เดิมเขตพระราชวังมีเนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ราบและภูเขา โดยมีการก่อสร้างพระตำหนัก, พระที่นั่ง, สระน้ำ, ทางสัญจร กระจายครอบคลุมในทุกๆ พื้นที่ หลังจากนั้นได้มีภาคเอกชนเข้ามาบุกรุก และทำลายสภาพแวดล้อม เนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ จนพื้นที่พระราชวังเหลือเนื้อที่กว่า 200 ไร่เท่านั้น
เอกชนอ้างว่ามีโฉนดที่ดินจำนวนกว่า 800 ไร่ และหนังสือ ส.ค.1 ระบุครอบครองกว่า 200 ไร่ จนมีการต่อสู้กันจนถึงปัจจุบันนี้
โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2550 ที่ผ่านมา นายประชา เตรัตน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในขณะนั้น เดินทางลงมาดูพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากศาลจังหวัดชลบุรีได้มีคำพิพากษาตัดสินว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐานของรัชกาลที่ 5 โดยมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนด จำนวน 2 แปลง พื้นที่กว่า 800 ไร่ และ ส.ค.1 ทุกแปลง รวมเนื้อที่กว่า 200 ไร่ โดยรวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 1,300 ไร่ และศาลให้ผู้ที่ทำการบุกรุก และทำลายธรรมชาติชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 400 กว่าล้านบาท แต่ก็มีการอุทธรณ์คดีกันต่อมาจนถึงศาลฎีกาปัจจุบันเรื่องก็เงียบไป
อนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกาะสีชัง เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศในหมู่เจ้านาย และคนชั้นสูง เนื่องจากภูมิประเทศสวย และอากาศบริสุทธิ์ และเป็นที่พักรักษาพระองค์ ของ รัชกาลที่ 6 สมัยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นเวลาหลายเดือน และรักษาพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เวลาแรมปี จนกระทั่ง เสด็จพ่อ รัชกาลที่ 5 มักแปรพระราชฐานหลายครั้ง
ต่อมา โปรดเกล้าสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตั้งแต่ปี 2431 ไม่ว่าจะเป็นวัดอัษฎางค์นิมิต และตึกสามหลัง ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี และอภิรมย์ สะพานอัษฎางค์ อัษฎางค์ประภาคาร เสาธง เก๋งจีน พลับพลาที่ประทับ ช่องเขาขาด หลักศิลาจารึก และโบราณสถานไว้ทั่วเกาะอย่างมากมาย รวมทั้งสร้างพระราชฐานพระราชทานนามว่า “พระจุฑาธุชราชฐาน” ตามพระนามโอรส ซึ่งนับได้ว่าพระที่นั่งจุฑาธุชราชฐาน เป็นพระราชวังฤดูร้อนบนเกาะกลางทะเลแห่งเดียวในประเทศไทย