เพชรบุรี - ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักษ์เขาแด่น พร้อมผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอบ้านลาด เพชรบุรี เข้ายื่นหนังสื่อ "ส.ว.สุมล" คัดค้านเรื่องการต่อสัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่บนเขาแด่น หลังพบประเด็นไม่ชอบมาพากล นายทุน โอนสิทธิรุกทำลายทรัพยากร
วันนี้ (23 ก.ค.) นายสมชาย มีนุช ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักษ์เขาแด่น นายบุญเรียน ทับน้อย กำนันตำบลห้วยลึก นายประสิทธิ์ สวยงาม กำนันตำบลห้วยข้อง นายชิด เกิดเกษม นายก อบต.ห้วยลึก อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี และชาวบ้านกว่า 10 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่าและพันธุ์พืช วุฒิสภา ขอคัดค้านเรื่องการต่อสัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่บนเขาแด่น อ.บ้านลาด
นายสมชาย กล่าวว่า เขาแด่น ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้มมีพื้นที่รวม 32,000 ไร่เป็นผืนป่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเพชรบุรีเพียง 16 กิโลเมตร เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์ไม้สัตว์ป่า และเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านกีฬา ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่เล่น “พาราไกร์ดิ้ง” และ “พารามอเตอร์” ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เมื่อปี 2537 นายไพทัน เครือแก้ว ณ ลำพูน ได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่วูลแฟรม ตังแต่วันที่ 9 ส.ค.2537 ถึง 8 ส.ค.2550 รวม 13 ปี
นายสมชาย กล่าวต่อว่า แม้สัมปทานเดิมจะหมดอายุแต่ด้วยระเบียบการทำเหมืองแร่ได้อนุยาตให้นายไพทันเจ้าของสัมปทานเดิมมีสิทธิ์ขอต่อสัมปทานได้อีกครั้ง 12 ปี ต่อมาเมื่อสัมปทานหมดลง ชาวบ้าน ต.ห้วยลึก ต.ห้วยข้องโดยกลุ่มคนรักษ์เขาแด่น กลุ่มคนรักษ์บ้านลาดและชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงได้มีการคัดค้านการต่ออายุสัมปทานเนื่องจากการทำเหมืองแร่วุลแฟรมของนายไพทันที่ผ่านมากว่า 13 ปีมีการเจาะและระเบิดภูเขาทำลายเพื่อหาแร่และนำหินที่ได้จากการระเบิดไปจำหน่าย ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนเขาแด่นถูกทำลายไปจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการบุกรุกทำลายป่าตัดไม้และก่อเตาเผาถ่านอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ประทานบัตรรวมทั้งยังมีการระเบิดหินนอกเขตประทานบัตรโดยขาดความรับผิดชอบซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายของกรมป่าไม้ แสดงให้เห็นว่านายไพทันไม่มีเจตนารักษาป่าอย่างแท้จริงตามประกาศแนบท้ายใบสัมปทานกลุ่มเครือข่ายฯและชาวบ้านจึงได้รวมตัวคัดค้านขอให้หยุดต่อสัมปทานบัตรเพราะต้องการฟื้นฟูธรรมชาติและอนุรักษ์ทรัพยากรสู่ลูกหลานกระทั่งภาครัฐมีการระงับไม่อนุญาตให้ต่อสัมปทาน แต่ต่อมาได้รับทราบว่านายไพทันได้ขายสิทธิให้กับนายทุนอื่นให้มารับช่วงต่อและมีการพยายามเดินเรื่องเพื่อให้สามารถทำเหมืองแร่ได้อีกครั้งชาวบ้านรับไม่ได้เพราะต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจึงยื่นหนังสือคัดค้าน
เบื้องต้น น.ส.สุมล ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ และกล่าวว่า ความจริงเรื่องการขอต่อสัมปทานเหมืองแร่ของนายไพทันจบไปนานแล้วเพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้ทรัพยากรของเขาถูกทำลายลงอีกชาวบ้านมีการรวมกลุ่มยื่นเรื่องต่อวุฒิสภาคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติของวุฒิสภาได้ลงมาตรวจสอบและพิจารณาไปแล้วว่าทำไม่ได้ เพราะฝ่าฝืนความต้องการของชาวบ้าน แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนนายทุนนายทุนคนใหม่ ได้เข้ามาพบตนและพยายามให้ตนช่วยเหลือ
น.ส.สุมล กล่าวต่อว่า ตนได้ชี้แจงไปแล้วว่าการทำเหมืองดังกล่าวเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่ารุนแรงและที่สำคัญประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอมให้ล้มเลิกความคิดทำเหมืองแร่เสีย แต่ทราบว่านายทุนคนดังกล่าวยังไม่ล้มเลิกทำเจตนาทำเหมืองแร่ดังกล่าว ตนในฐานะ ส.ว.เพชรบุรี ในฐานะประธานกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า วุฒิสภา และในฐานะประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี และที่สำคัญด้วยฐานะความเป็นคนเพชรบุรี จะนำเรื่องคัดค้านดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่าและพันธุ์พืช วุฒิสภา พิจารณา และเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มาชี้แจงและแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีรับทราบปัญหาและความต้องการของชาวบ้านเพื่อป้องกันแก้ไขต่อไปตนยืนยันว่าจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างถึงที่สุด