xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิฯยกทีมลงแม่เมาะซ้ำพบปมใหม่-จวก รบ.จ่ายเงินแดงทิ้งเหยื่อโครงการรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - กรรมการสิทธิฯลงพื้นที่ลำปาง ตั้งโต๊ะรับเรื่องผลกระทบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พบปัญหาใหม่จากการอนุญาตของหน่วยงานรัฐ เล็งฟ้องศาลปกครองแทนชาวบ้าน หากไม่รีบแก้ไข ติงรัฐบาลอย่าเยียวยาเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง เพื่อประชานิยมอย่างเดียว หวั่นนำไปสู่ความขัดแย้ง-วุ่นวายตามมา

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่โรงแรมลำปางเวียงทอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของชาวบ้านในอำเภอแม่เมาะ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะตั้งแต่อดีต รวมถึงรับฟังการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยว เช่น กรมป่าไม้ กฟผ.แม่เมาะ เป็นครั้งที่ 3 โดยมีชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลเกือบ 300 คน

ประเด็นหลักในนำเสนอในวันนี้ คือ ข้อร้องเรียนของชาวบ้านเกี่ยวกับกรณีที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ กฟผ.ใช้พื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ เป็นที่ทิ้งดิน โดยไม่นำข้อคัดค้านของ อบต.บ้านดง และชาวบ้านที่ไม่ยินยอมให้ทิ้งถึง 4 ครั้ง มาประกอบการพิจารณาอนุญาต

ตัวแทนกรมป่าไม้ ระบุเพียงว่า เนื่องจากพื้นที่ ที่ กฟผ.ขออนุญาตเป็นที่ทิ้งดินนั้นเป็นพื้นที่เดิมและไม่มีปัจจัยใหม่ แต่ทั้งนี้ได้ยอมรับว่า ไม่ได้นำข้อคัดค้านของ อบต.บ้านดง มาประกอบการพิจารณาของส่วนกลางแต่อย่างใด

นายแพทย์ นิรันดร์ กล่าวภายหลังการรับฟังปัญหาและการดำเนินงานด้านต่างๆ ว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ลงมารับข้อมูลเรื่องผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นครั้งที่ 3 ครั้งนี้ พบว่า ปัญหาเดิมยังคงอยู่ และยังมีปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 เรื่อง

คือ 1.ปัญหาการคัดค้านไม่ให้ กฟผ.ใช้พื้นที่ อบต.บ้านดง ในการทิ้งดิน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จาก กลิ่น เสียง ฝุ่น ขณะที่ปัญหาเรื่องการอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กฟผ.ก็ยังดำเนินงานไม่เสร็จสิ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องให้กรมป่าไม้กลับไปทบทวนคำสั่ง เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิฯเห็นว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครองโดยมิชอบ

2.ปัญหาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้ต่อสู้กันมานานกว่า 10 ปี กฟผ.ก็ยังอ้างการต่อสู้ด้านข้อกฎหมาย จนทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ

3.เนื่องจาก พื้นที่ อบต.บ้านดง ไม่อยู่ในเขตประทานบัตรจึงไม่ได้รับค่าภาคหลวงแร่ จึงทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความเป็นธรรม

และ 4.ปัญหาใหม่ที่มีการร้องเรียน คือ กฟผ.ทำการระเบิดภูเขา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดอยช้าง อยู่ในพื้นที่สัมปทานของ กฟผ.เพื่อเอาหินปูนไปประกอบการผลิต แต่ชาวบ้านไม่รับรู้ทั้งๆ ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 47 จนกระทั่งวันนี้ เห็นภูเขาดังกล่าวถูกระเบิดไปบางส่วน ทำให้ชาวบ้านร้องเรียน และเริ่มออกมาคัดค้าน เนื่องจาก ดอยช้าง ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์

ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ จะได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งหากหน่วยงานไม่เร่งแก้ไขปัญหา แถมยังจะสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่อีก คณะกรรมการสิทธิฯอาจจะต้องพิจารณาฟ้องศาลปกครองแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอีกครั้งก็ได้

นายแพทย์ นิรันดร์ ได้กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลพิจารณาเงินงบประมาณกว่าสองพันล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง ว่า ขอให้รัฐบาลพิจารณาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโครงการรัฐอย่างเท่าเทียมกันด้วย อย่าเลือกเยียวยาเฉพาะที่เป็นประชานิยม แต่มองข้ามประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ดุลพินิจของรัฐบาล เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ-ถูกละเมิดสิทธิในโครงการของรัฐมีอยู่ทุกภาค และมีจำนวนมาก

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่เร่งรัดให้หน่วยงานเข้ามาเยียวยาโดยเร็ว เกรงว่า นโยบายของรัฐบาลที่ออกมาขณะนี้ จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง รุนแรง และก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมขึ้น ซึ่งจะไม่แพ้ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ด้าน นางมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวในกรณีเดียวกันว่า การที่รัฐบาลจะนำเงินจำนวนมากเยียวยาเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง ต้องบอกให้ชัดเจนว่าจะนำเงินเหล่านั้นมาจากไหน หากจะนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายก็ต้องถามประชาชนทั้งประเทศว่ายินยอมหรือไม่

“ไม่ใช่ถามเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล เพราะเงินที่จะนำมาจ่ายดังกล่าวเป็นเงินที่คนทั้งประเทศจ่ายภาษี”

หากรัฐบาลมุ่งเยียวยาเฉพาะกลุ่มก็เท่ากับรัฐบาลเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าของคน และมองคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ผิดพลาดต่ำ แต่มองคุณค่าของคนที่สนับสนุนทางการเมืองสูงกว่า หากจะต้องเยียวยาก็ต้องเยียวยาให้เหมือนกันทุกกลุ่มอย่าเลือกเฉพาะคนของรัฐบาลเท่านั้น เพราะนอกจากจะไม่สร้างความปรองดองแล้วยังจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมตามมาอีก

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร
กำลังโหลดความคิดเห็น