xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปลูกข้าวใช้สารเคมีเข้าขั้นวิกฤต ไม่ปลอดภัยทั้งชาวนา-ผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีเสวนา นาเปื้อนพิษ วิกฤติข้าวไทย ที่กลุ่มสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดขึ้นที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - เสวนา “นาเปื้อนพิษ วิกฤตข้าวไทย” ชาวนาเมืองดอกบัวเผยนาข้าวยุคนี้เข้าขั้นวิกฤต มีสารพิษปนเปื้อนอื้อ สาธารณสุขรับตรวจเลือดเกษตรกรร้อยละ 30% อยู่ในภาวะเสี่ยง รับสารเคมีมากกว่าปกติ ไม่ปลอดภัยทั้งคนปลูกและผู้บริโภค นักวิชาการฉะ จนท.เกษตรตัวปัญหา ทั้งที่นโยบายเน้นเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งสื่อโฆษณาหลอกชาวนาหลงเชื่อใช้สารเคมีแล้วรวย

วันนี้ (11 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุบลราชธานีว่า กลุ่มสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูเสด จัดเสวนา “นาเปื้อนพิษ วิกฤตข้าวไทย” ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีชาวนาจากหลายอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และนักวิชาการ เข้าร่วมจำนวนมาก โดยนายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการ ระบุว่า สถานการณ์การใช้สารเคมีเร่งผลผลิตรุนแรงขึ้น กระทั่งกลุ่มชาวนาต้องปลูกข้าวแบบแยกแปลง คือไว้ขาย และไว้กินเองจริงหรือไม่

นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม ชาวนาเกษตรอินทรีย์ อ.สำโรง กล่าวว่า การใช้สารเคมีเร่งการเจริญเติบโตในนาข้าวรุนแรงมากกว่าอดีต เพราะเกษตรกรมีความเชื่อผิดๆ ว่าการทำนาต้องสะดวกสบาย จึงพยายามพึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมีเร่งการเจริญเติบโต และสารกำจัดศัตรูพืช ทำให้การทำนาแต่ละครั้งต้องใช้ปุ๋ยเคมีและฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า 4-5 ครั้งต่อรอบการผลิต

สุดท้ายสารเคมีได้ส่งผลกระทบทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งอดีตตนเคยทำเกษตรเคมี แต่ต้องหยุดเพราะร่างกายเสื่อมโทรม เฉียดตายจากสารเคมีหลายครั้ง ทั้งส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว ปัจจุบันบุตรชายยังป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้สารเคมีเพราะเหมือนมีโปรแกรมบังคับ ต้องเร่งเพิ่มผลผลิต และถูกสื่อหลอกให้ลุ่มหลง โดยไม่เสริมสร้างปัญญาให้ผู้ชม เพราะรายการทีวี ทั้งละคร หรือมวย ล้วนแข่งขันโฆษณาข้อดีของยาฆ่าหญ้า ทำให้หลงเชื่อว่าใช้แล้วรวย

นายทองอิน คำแพง ชาวนาเกษตรอินทรีย์ อ.สว่างวีระวงศ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนคนอื่น ทำให้ต้นทุนสูง สุขภาพเสื่อมโทรม ต่อมาเห็นเพื่อนชาวนาในหมู่บ้านเดียวกันใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็ได้ผลผลิตดี ต้นทุนไม่สูง จึงทดลองใช้ ปรากฏดีทั้งผลผลิตและสุขภาพ ไม่เจ็บป่วยเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม ในหมู่บ้านยังมีชาวนาจำนวนมากที่ยังใช้สารเคมีเร่งผลผลิต

ด้าน น.ส.พรรณี เสมอภาค ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มากว่า 27 ปี หากมองย้อนกลับไปก่อนปี 2515 ชาวนาไม่มีหนี้สิน แต่พอภาคราชการเข้ามาส่งเสริมให้ชาวนาใช้สารเคมีตั้งแต่ปี 2531 พบว่าเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 80,000 บาทต่อครัวเรือน ยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้ชาวนา ที่ดินเริ่มหลุดจากมือ

เมื่อนำเหตุการณ์มาวิเคราะห์จึงรู้ว่าราชการทำสิ่งผิดพลาด คือ ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยเคมีเร่งผลผลิต และสารเคมีอื่น จึงทำให้ต้นทุนผลิตข้าวสูงกว่ารายรับ ทางออกภาคราชการต้องส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยทั้งตัวผู้ปลูกและคนกิน โดยเมื่อปี 2537 กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสานร่วมผลักดันให้บรรจุการส่งเสริมทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 โดยรัฐต้องส่งเสริมภาคเกษตรอินทรีย์ให้มีพื้นที่ปลูกร้อยละ 20 ของพื้นที่ หรือราว 25 ล้านไร่ แต่ถึงวันนี้ล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี พื้นที่เกษตรอินทรีย์มีแค่ร้อยละ 0.162 เท่านั้น

น.ส.พรรณีกล่าวว่า เรื่องน่าตกใจคือ ในหมู่บ้านหนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านหลายครัวเรือนไม่ยอมใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้ามาตั้งแต่อดีต แต่กลับมีเจ้าหน้าที่เกษตรของรัฐนำสารเคมีไปยัดเยียดให้ชาวบ้านใช้ ซึ่งยาฆ่าหญ้าที่นำไปแจก เป็นยาชนิดที่ออกฤทธิ์รุนแรง การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสวนทางกับนโยบายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์หรือไม่

นายวิษณุ สุภศร ผู้ช่วยหัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากสถิติผลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกรเพื่อหาสารพิษตกค้างจากการประกอบอาชีพในปี 2555 จำนวน 35,000 ราย พบว่ามีภาวะเสี่ยงไม่ปลอดภัย เพราะได้รับสารเคมีมากกว่าปกติกว่า 10,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละกว่า 30% ของเกษตรกร

โดยทั้งหมดได้รับสารเคมีผ่านทางลมหายใจ ปาก และการสัมผัสทางผิวหนัง ส่วนผลกระทบทั้งระยะสั้นและยาวคือ ผู้ได้รับสารพิษอย่างเฉียบพลันจะมีอาการตาพร่ามัว หน้ามืด อาเจียน คลื่นไส้ เป็นลม ชัก และเสียชีวิต แต่หากได้รับลักษณะค่อยๆ สะสมเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ สำหรับทางออกของปัญหา ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความเห็นโดยสรุปว่า แนวโน้มการทำเกษตรอินทรีย์จะมีความมั่นคงกว่าเกษตรเคมี ทั้งลงทุนน้อยกว่า ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ รวมทั้งตลาดบีบบังคับ นื่องจากผู้บริโภคห่วงใยสุขภาพ ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ได้การยอมรับมากขึ้น

แต่ประการสำคัญคือ รัฐบาลต้องจริงใจแก้ปัญหา โดยทบทวนนโยบายแจกสารเคมีทางการเกษตร หันมาสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ส่วนผู้บริโภคต้องตระหนักถึงอันตราย ร่วมรณรงค์สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ เนื้อหาโดยละเอียดสามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่อง Sangsook วีเคเบิลทีวี, โสภณเคเบิลทีวี, ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน อุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี


กำลังโหลดความคิดเห็น