xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติสุขภาพ ปฏิเสธยาปฏิชีวนะ!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อใด เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงรีบหยิบคว้ายามาทาน โดยเฉพาะปฏิชีวนะ ที่คิดไปว่าจะป้องกันโรคภัยที่ย่างกราย โดยหารู้ไม่! ว่าพฤติกรรมการบริโภคยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น หรือเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากก่อปัญหาการดื้อยายังส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

แน่นอน หน่วยงานด้านสาธารณสุขคงเพิกเฉยต่อความเข้าใจผิดในการบริโภคยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคของประชาชนไม่ได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็ได้ริเริ่มโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล Antibiotics Smart Use (ASU) ตั้งแต่เมื่อปี 2549 ค่อยๆ ขยายฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ยาอันตรายชนิดนี้ต่อภาคประชาชน

ล่าสุด จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง 'ยาปฏิชีวนะ กับสุขภาพของคนไทย' โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานสาธารณะสุขร่วมวงเสวนา มุ่งหวังให้มวลช
นตระหนักในเรื่องการใช้ยาอันตรายดังกล่าว

คนไทยเสพติดยาปฏิชีวนะ
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปี 2554 ประเทศไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าถึง 20% ของยาทั้งหมด หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลยที่สูงมากหากเทียบกับประเทศอื่น ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มนำเข้ายาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตามกฏหมายกำหนดให้ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตราย โดยมีคำเตือนเป็นกรอบสีแดงอยู่ข้างกล่อง ตรงนี้เองเป็นข้อมูลเบื้อต้นที่ใครหลายคนทราบ แต่ดูจะขาดความใส่ใจและคำนึงในการใช้ยาจำพวกนี้ไปบ้าง

กลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะหมอ เภสัชกร ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นอย่างมาก แต่ปรากฎการณ์ที่ยังพบเห็นในสถานพยาบาล หรือร้านขายต่างๆ คนไข้ ยังได้รับยารักษาโรคกองโต ซึ่งยาที่คุ้นชินกันดีก็ไม่พ้นกลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ถูกเหมารวมไปแล้วว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หากเจ็บไข้ได้ป่วยต้องกิน

กลายๆ ว่า ยาปฏิชีวนะ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบุคคลบางกลุ่มไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยความยึดมั่นถือมั่นหรือด้วยผลประโยชน์ใต้เสื้อกาวน์ก็ตาม

ขณะเดียวกัน คนไข้ ก็เป็นชวนเหตุสำคัญ เพราะดูจะเป็นความเชื่อขั้นพื้นฐานกันเลยว่า มีอาการแบบนี้ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอะไรเทือกนี้ ซ้ำร้ายยังหาซื้อบริโภคได้ง่ายๆ

บางโรคหายได้..ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ กล่าวคือ ยาปฏิชีวนะนั้นเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ จะใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

“เริ่มเจ็บคอนิดหน่อยมาสั่ง อะม็อกซี่ แค่ฝนตั้งเค้าหลายคนกินยาแก้แพ้ลดน้ำมูก เป็นสิ่งที่น่ากลัวนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย กลายเป็นว่าเรากินแบบป้องกัน” ภญ.เสาวภา ก้าวสมบูรณ์ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี สะท้อนถึงพฤติกรรมการบริโภคยาปฏิชีวนะที่ไม่สมควรของประชาชนจำนวนหนึ่ง

สำหรับโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ได้รวบรวม 3 โรค ที่มักเป็นกันอย่างแพร่หลาย และสามารถหายได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ มุ่งหวังให้ภาคประชาชนลดการใช้ยาพวกนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของตน ได้แก่

หวัด-เจ็บคอ
กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไวรัส มีอาการ เช่นน น้ำมูกไหล ไอ จาม เสียงแหบ เจ็บคอ มีไข้ เป็นนาน 7-10 วัน โดยวันที่ 3-4 จะมีอาการมากที่สุด แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง รักษาโดยการดื่มน้ำอุ่น กลั่วคอด้วยน้ำเกลือ พักผ่อนให้มาก แต่ถ้ามีอาการ ใน 4 ข้อ 1. เจ็บคอมาก และไม่ไอ 2. มีไข้ 3. มีหนองที่ต่อมทอนซิล 4.ต่อมน้ำเหลืองที่ขากรรไกรโตและกดเจ็บ ต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกร

ท้องเสีย
กว่าร้อยละ 99 เกิดจากไวรัส หรือาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย รักษาโดยดื่มน้ำเกลือแร่ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ามีไข้และถ่ายเป็นมูกเลือด ต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกร

แผลเลือดออก
อย่างเช่นน แผลเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ มีดบาด แผลถลอก ฯลฯ และผู้ป่วยมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงดี รักษาโดยล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าเป็นแผลที่เท้า ตะปูตำ สัตว์กัด แผลถูกสิ่งสกปรก เช่นนมูลสัตว์ น้ำครำ หรือมีโรคประจำตัวเช่นน เบาหวาน ต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกร

ภญ.เสาวภา กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การใช้ยาของชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ

“ในฐานะเภสัชกรเราเห็นปัญหาการใช้ยา บางทีประชาชนเค้าไมได้ต้องการคำแนะนำเค้าต้องการสิ่งที่เขาต้องการ เค้าทำหน้าตาแบบภูมิใจที่สั่งยาเองได้ ไม่รับฟังอะไรทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นอันตราย ประเทศไทยค่อนข้างเสรีในเรื่องนี้ เราสามารถซื้อยาปฏิชีวนะได้ทุกที่ มีแม้แต่ในร้านชำ เราต้องเปลี่ยนค่านิยมของคน เช่นน ให้ความรู้ในส่วนการให้ยาพื้นฐาน รวมถึงการดูแลตัวเอง เช่นน เป็นหวัด ใช้สมุนไพร และเราก็แรกความรู้ว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือใช้ให้ครบคอร์สอย่างไร”

ในส่วนของการรณรงค์ในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ ภญ.เสาวภา แสดงทัศนะว่า ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะบุคลากรทางการแพทย์ หรือในภาคประชาชนที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เข็มแข็ง เพราะพวกเขาคือเจ้าของสุขภาพ

อย่าละทิ้งจรรยาบรรณ
อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ที่ว่าด้วยพฤติกรรมด้วยทำไมคนไทยถึงกินยามากขึ้น ทำไมมูลค่าการใช้ยาเพิ่มสูงขึ้น พบว่า มีทั้งการปรับขนาดยาเองตามใจชอบ การเก็บยาไม่ถูกต้องทำให้ยาเสื่อมหมดอายุ การรับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล แม้กระทั่งเชื่อว่าการใช้ยาดีกว่าการป้องกันการเกิดโรค แต่อีกหนึ่งเหตุผลซ่อนเร้นอันน่ากลัว คือเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่เข้าใครออกใคร

แหล่งข่าวปิดในแวดวงเภสัชกรรม เปิดเผยกับทีมข่าว Live ว่าการซื้อขายยาจากบริษัทยาเข้าไปจัดจำหน่ายในโรงพยาบาล มักมีเรื่องของธุรกิจการค้า ผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

งานนี้ประชาชนจึงตกเป็นเหยื่อความไว้วางใจฝากชีวิตไว้ในเงื้อมมือของแพทย์ไร้จรรยาบรรณ บางคนสั่งยามากๆ หลากยี่ห้อ หวังถ่ายยาออกไปเร็วๆ ขณะที่บางคนที่จ่ายยาแบบคงไว้ด้วยคุณธรรมก็ยังมี เรื่องนี้ต้องพิจารณากันเป็นกรณีๆ ไป

“สมมติบริษัทออกเงินให้ ส่งหมอไปประชุมต่างประเทศ ก็จะเป็นที่รู้กันว่าหมอควรจะมีอะไรตอบแทน ซึ่งการสั่งยาเนี่ยขึ้นอยู่กับหมอแต่ละคนว่าจะจ่ายอะไร เท่าไหน หมอบางคนใช้ทุกยา ทุกตัว เป็นคนจ่ายยาเยอะ หมอบางคนก็ชอบจ่ายยานอก จ่ายยาแพงๆ”

ทุกวันนี้หลายคนจึงต้องกินยาหลายเม็ด หลายชนิด ให้ครบตรงตามที่หมอสั่ง ตามฉลากที่แปะติดไว้ข้างซอง ระบุว่าอย่างไรก็กินไปอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าตัวยาประกอบด้วยอะไร มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง การขาดความรู้ในด้านนี้จึงส่งผลร้ายแก่เราแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ในส่วนของโทษจากการใช้ยาปฏฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม อาทิ อาการแพ้ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เชคลื่นไส้ ท้องเดิน มีผื่นคัน หรือรุ่นแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงไม่ควรพร่ำเพรื่อ อาการดื้อยา ถ้าเกิดเชื้อดื้อยาทำให้ต้องกินยาที่อันตรายมากขึ้น สุดท้ายยาอะไรก็รักษาไม่หาย อีกอย่าง โรคบางอย่างสามารถหายเองได้ไม่จำเป็นต้องเสียเงิให้สิ้นเปลือง

คุณภาพชีวิตที่คุณต้องกำหนดเอง
ภญ.ดร.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการ สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าสถิตการใช้ยาปฏิชีวนะในประเทศไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าอัตราการใช้ยาที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลพ่วงไปยังปริมาณการดื้อยาในคนไข้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

บุคลากรทางการแพทย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ในอดีตนั้นมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาการจ่ายยา มักใช้มาตรการเชิงนโยบายเสียส่วนใหญ่ แต่ความเป็นจริงมาตรการเชิงนโยบายอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเพราะก็เปลี่ยนแปลงตามนโยบายของฝ่ายบริหาร ตามสถานการณ์ทางการเมือง

“เชื้อดื้อยาในสมัยก่อนเราเชื่อว่าเป็นเรื่องของบุคลากรในโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันเชื้อดื้อยาเป็นเรื่องของทุกคนแล้วต้องมีการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมร่วมกันระหว่างบุคคลากรทางการแพทย์กับประชาชน” ภญ.ดร.นิธิมา กล่าว

อย่างไรก็ตามการรณรงค์ โครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็ดำเนินแผนการรณรงค์ส่งเสริมอย่างเป็นระบบเป็นรูปธรรม เริ่มแรกนำร่องในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธรณสุข, สาธารณะสุขชุมชน ฯลฯ ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลศิริราช ก็ลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยได้ดี

แต่ในส่วนสถานพยาบาลเอกชน การรณรงค์โครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล คงต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะยังมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง ภญ.ดร.นิธิมา กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือสร้างความเข้าใจแก่ภาคประชาชน สร้างกระแสสังคมให้ตื่นรู้

ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ในเรื่องยาปฏิชีวินะว่ามีหลายระดับ ตั้งแต่ยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออย่างง่ายไป จนถึงยาที่ฆ่าเชื้อได้จำนวนมาก แต่หากเกิดสภาวะเชื้อดื้อยาระดับต้นแล้ว ก็จะดื้อยาเป็นลำดับขึ้นมา ซึ่งถ้าเชื้อบางตัวดื้อยาทุกชนิดนั้นเท่ากับว่าไม่มียารักษา ก่ออันตรายถึงชีวิตได้

อาจารย์หมอฝากทิ้งท้าย “บุคลากรสาธารณะสุขต้องเป็นหลัก ต้องช่วยกัน ให้เกิดความถูกต้อง ระลึกเสมอว่าเราเรียนมามีวิชาความรูมากกว่าและต้องให้ความรู้คำอธิบายที่มีเหตุมีผลที่ถูกต้อ เราต้องเป็นหลักให้สังคม”

การรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะให้สัมฤทธิ์ผล คงต้องอาศัยความร่วมมือสร้างความเข้าใจในหลายๆ ส่วน ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน หรือทางด้านผู้ประกอบสัมมาอาชีพทางสาธารณะสุขเองก็ต้องมีจริยธรรม

........................................
เจ็บป่วยคราวหน้า คงต้องกลับมาพิจารณาให้ดีแล้วว่าจะรักษาด้วยวิธีการซื้อยาปฏิชีวนะทานเองหรือไม่ เพราะการใช้ยาเหล่านี้อย่างไม่สมเหตุสมผล นั้นเท่ากับว่าคุณปล่อยให้ภัยเงียบคุกคามชีวิต

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น