xs
xsm
sm
md
lg

“มะเร็ง” คร่าชีวิตคนทั่วโลก 7.6 ล้านคนต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยมะเร็ง อันดับ 1 คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละ 7.6 ล้านคน พบผู้ป่วยรายใหม่ 12.7 ล้านคน ส่วนคนไทยคาดมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 100,000 ราย เสียชีวิตกว่า 6 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแนวโน้มเพิ่มขึ้น เร่งตรวจคัดกรองคนอายุ 50-70 ปี เพื่อผลักดันเป็นนโยบายประเทศ ลดการป่วยและเสียชีวิต
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า 4 ก.พ.ของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อบรรเทาปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก ในปี 2551 องค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการตรวจวินิจฉัย 12.7 ล้านราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 7.6 ล้านราย หรือร้อยละ 13 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนในปี 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยใหม่ 21.3 ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านคน โดยในปีนี้ได้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ว่า มะเร็ง-คุณรู้แค่ไหน (Cancer - Did you know?) เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง โดยมะเร็งร้อยละ 30-40 สามารถป้องกันได้ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง และหากได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งที่เหมาะสม จะสามารถป้องกันและได้รับการรักษาได้ทันท่วงที

สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี ล่าสุด ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 61,082 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย เป็นชาย 35,437 ราย และหญิง 25,645 ราย องค์การอนามัยโลกคาดมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 118,600 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มะเร็งที่ผู้ชายป่วยมากที่สุดได้แก่ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้และทวารหนัก ต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอด ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ชีวิตแบบคนเมือง นิยมกินแต่เนื้อสัตว์ กินผักผลไม้น้อย ออกกำลังกายน้อย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตรียมผลักดันการเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นนโยบายของประเทศเช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยได้มอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันวิจัยและประเมินเทคโลยีทางการแพทย์ หรือไฮแทป ศึกษาความเป็นไปได้ คาดจะเสร็จภายในกลางปีนี้ เพื่อเสนอต่อ ครม.ซึ่งการตรวจคัดกรองจะเป็นการค้นหาคนที่เริ่มมีความผิดปกติของลำไส้ เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาได้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โอกาสหายมีมาก การเสียชีวิตลดลง

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าคนไทยยังมีความเชื่อผิดๆ เรื่องโรคมะเร็งว่าเป็นโรคเคราะห์กรรม หรือเชื่อว่า เป็นแล้วต้องตาย รักษาไม่ได้ จึงไม่ได้ให้ความสนใจที่จะป้องกัน หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองตามที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ เนื่องจากเซลล์มะเร็งใช้เวลาก่อตัวนานและไม่แสดงอาการใดๆ ให้รู้ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มาพบแพทย์ประมาณร้อยละ 70-80 อยู่ในระยะเซลล์ลุกลามไปที่อวัยวะอื่นแล้ว โอกาสหายมีน้อยมาก ทำให้สถิติการเสียชีวิตติดอันดับ 1 กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไข โดยพัฒนาระบบการป้องกันด้วยการรณงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยง 5 สาเหตุหลักคือบุหรี่ เหล้า เพิ่มการกินผักผลไม้ การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนักตัว และบริการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เริ่มตั้งในเด็กแรกเกิด ฉีด 4ครั้งจนถึงอายุ 6 เดือนเพื่อป้องกันมะเร็งตับ และเพิ่มระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม

ในด้านการรักษาผู้ป่วย ได้พัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็งให้มีประจำใน 12 เครือข่ายบริการ ตามแผนพัฒนาะบบบริการสุขภาพ โดยมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ เทคโนโลยีชั้นสูงในการตรวจวินิจฉัยและรักษา นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ตั้งเป้าหมายใน 5 ปี จังหวัดในภาคอีสาน 20 จังหวัด มีไข่พยาธิใบไม้ตับน้อยกว่าร้อยละ 10 และภายใน 3 ปี สตรีไทยมีการตรวจเต้านมจนสามารถพบมะเร็งในระยะ 1-2 ซึ่งเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจาย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ในปี 2557 ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และคิวรอการฉายแสงรักษามะเร็งลดลงกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ สถาบันมะเร็งฯ จะจัดกิจกรรมเสวนาสำหรับประชาชน เนื่องในวันมะเร็งโลก ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ กทม. เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องลบล้างตำนานความเชื่อแบบผิดๆ ในเรื่องโรคมะเร็งแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ ยังได้จัดการประชุมระดมสมองโดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร ร่วมกันปรับแผนป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับปัญหาของประเทศในปัจจุบันมากขึ้น

ส่วนการศึกษาความเป็นไปได้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สถาบันมะเร็งฯ ได้จัดทำโครงการศึกษานำร่องที่จังหวัดลำปางตั้งแต่ปี 2553 ในกลุ่มประชาชนอายุ 50-70 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบผู้ป่วยมากที่สุด โดยตรวจคัดกรองจำนวน 78,000 ราย ด้วยการใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายราคาประมาณ 60 บาท เพื่อตรวจหาเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ ผลปรากฎตรวจพบร้อยละ 1.1 หรือ 858 ราย และได้ส่งต่อไปรับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผลจากการส่องกล้องของผู้ป่วยจำนวน 561 ราย พบผู้ป่วยมะเร็ง 26 ราย มีติ่งเนื้อที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง 153 ราย ได้ส่งตัวเข้ารักษาทันที ซึ่งการตรวจคัดกรองนี้ถือว่าได้ผลดี มีต้นทุนต่ำมากเพียง 60 บาท และหากพบผู้ป่วยจะสามารถนำเข้าระบบการรักษาได้เร็ว เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม แต่หากตั้งรับรอรักษาผู้ป่วยเมื่อมีอาการลุกลามไปแล้ว โอกาสหายมีน้อยมากและค่ารักษาสูงนับแสนบาท

หากโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้รับการประกาศเป็นนโยบายชาติ จะเป็นผลดีกับประชาชนอย่างมาก และการปฏิบัติไม่ยุ่งยาก โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย ตรวจได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และให้เครือข่าย อสม.ที่มีกว่า 1 ล้านคนรณรงค์ให้ประชาชน อายุ 50 ปี 55 ปี 60 ปี 65 ปี และ70 ปี ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน เก็บตัวอย่างอุจจาระมาตรวจ หากพบมีเม็ดเลือดแดงแฝง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจมีความผิดปกติของลำไส้ จะส่งต่อไปรับการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาลและให้การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ สัญญาณอันตรายของมะเร็ง 7 ประการ ได้แก่1.ระบบขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด 2.กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียดแน่นท้องเป็นเวลานาน 3.มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง4.มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น5.เป็นแผลรักษาไม่หาย 6.ก้อนหูดหรือไฝตามร่างกายโตขึ้น และ 7.มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยละเอียดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น