xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยยุ่งยานรก 2 ล.คน กรมแพทย์ดึงสื่อร่วมต้านภัยยาเสพติด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบคนไทยพัวพันยาเสพติดสูงเกือบ 2 ล้านคน ด้านเยาวชนมีแนวโน้มเป็นกลุ่มติดยาอันดับ 2 ของประเทศ กรมการแพทย์จับมือสถาบันธัญญารักษ์ จัด “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” หวังสื่อมวลชนเป็นตัวกลางเผยแพร่ข่าวยาเสพติด และการรักษาอย่างถูกต้อง พร้อมผุดแผนยุทธศาสตร์ปี 56 เข้ม 5 มาตรการจัดการยาเสพติด

วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่อาคารปาร์คเวนเจอร์ เพลิตจิต กทม. พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงานอบรมสัมมนาวิชาการ “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” สำหรับสื่อมวลชนไทย ว่า รัฐบาลให้ยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ กรมการแพทย์และสถาบันธัญญารักษ์จึงกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายเรื่องนี้ร่วมกันให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ โดยจะเร่งดำเนินแผนยุทธศาสตร์ในปี 2556 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ 5 ประการ ได้แก่ 1.สร้างหมู่บ้านหรือชุมชนเข้มแข็งจำนวน 84,320 แห่ง 2. บำบัดฟื้นฟูด้วยการสร้าง 1 อำเภอ 1 ศูนย์จำแนกคัดกรอง พร้อมนำผู้เสพและผู้ติดยาเข้ารับการบำบัดทุกระบบจำนวน 300,000 คน และติดตามผู้ผ่านการบำบัดให้ได้จำนวน 700,000 คน โดยต้องมีมาตรการให้ผู้ผ่านการบำบัดไม่กลับไปเสพติดซ้ำอย่างน้อย 80% 3.ป้องกันกลุ่มเสี่ยง ด้วยการให้ความรู้นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายจำนวน 1.5 ล้านคน และผู้เสพซึ่งมีสถานะเป็นผู้ติดรายใหม่จำนวน 20% ของจำนวนผู้เสพหน้าใหม่ทั้งหมด 4.การปราบปราม ตั้งเป้าจับกุมผู้กระทำความผิดในข้อหาคดีสำคัญด้านยาเสพติดให้ได้ 40,000 ราย พร้อมยึดทรัพย์สินจากการกระทำผิดให้ได้ 2,000 ล้านบาท และ 5.การสกัดกั้น จะพยายามให้สัดส่วนการสกัดกั้น พื้นที่ชายแดนต่อพื้นที่ภายในเป็นไปในแบบ 70:30

สิ่งที่มุ่งหวังให้เกิดจริงและพร้อมลงมือปฏิบัติ คือ การปรับปรุงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา ด้วยการคัดกรอง จำแนก และติดตามผลเชิงคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพการทำงานสูง จึงต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติม พัฒนารูปแบบการบำบัด และจัดให้มีระบบการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ สื่อมวลในฐานะพิราบอาสาที่มีความสำคัญในด้านจิตวิทยาที่สามารถชี้นำผู้คนในสังคมได้ จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์และเกิดประโยชน์ต่อมวลชนโดยรวม” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาประมาณการได้ว่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั่วประเทศในปี 2556 ประมาณ 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2554-2555 เกือบหนึ่งเท่าตัว แต่ผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดจะเข้าบำบัดรักษาเพียง 1.2 ล้านคน ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องเข้ารับการบำบัดเพียง 5.6 แสนคน และเมื่อศึกษาผลการดำเนินงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ของสถาบันธัญญารักษ์ทั่วประเทศภายในปีเดียวกัน พบว่า กลุ่มที่ติดยาเสพติดมากที่สุดคือกลุ่มรับจ้าง 41.71% รองลงมาเป็นกลุ่มคนที่ว่างงาน 17.41% การเกษตร 16.81% ท้ายสุดเป็นกลุ่มเยาวชน 9.12% ที่พบได้ตั้งแต่อายุ 18-29 ปี โดยในกลุ่มหลังนี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และอาจมีจำนวนแซงหน้ากลุ่มว่างงานในไม่ช้านี้

นพ.จิโรจ กล่าวอีกว่า ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มเยาวชนที่ใช้ยาเสพติดและเข้ารับการรักษา มีการเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ เพราะเมื่อสำรวจการบำบัดทั่วประเทศตามปีงบประมาณ 2553-2555 เยาวชนในกลุ่มอายุ 18-24 ปี มีสถิติเข้ารับการบำบัดสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และมีจำนวนมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ เกือบ 1 เท่าตัว ส่วนช่วงอายุ 12-17 ตามมาเป็นอันดับที่ 4 จาก 7 กลุ่มช่วงอายุ และในกลุ่ม 7-11 ปี ก็ติดโผสถิติเข้ารับการบำบัดอาการติดยาเสพติดด้วยเช่นกัน เพียงแต่รั้งท้ายเป็นอันดับที่ 7 ด้วยสถิติเฉลี่ย 0.016%

“ข้อมูลที่สำคัญอีกประการ ก็คือ เมื่อจำแนกตามกลุ่มผู้เสพรายเก่ารายใหม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ปรากฏว่า ผู้เสพรายเก่าและรายใหม่ที่หมายถึงผู้ที่เพิ่งเข้ารับการบำบัดครั้งแรกมีสูงถึงเกือบ 80% ขณะที่รายใหม่จริงที่หมายถึงผู้ที่เพิ่งเข้ารับการบำบัดครั้งแรก และมีประวัติระบุว่าเริ่มใช้ยาเสพติดไม่เกิน 1 ปี มีอยู่ราวเกือบ 10% ซึ่งในปี 2555 มีผู้เสพรายใหม่จริงสูงถึง 13,363 คน ส่วนรายเก่าและรายใหม่รวมกันสูงที่สุดมากกว่าปีอื่นๆ 234,984 คน พ่วงด้วยกราฟแสดงจำนวนผู้ติดยาที่เข้ารักษาตามความรุนแรงของการเสพติดประจำปี 2555 จำนวน 3 แสนคน ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มผู้เสพเข้ารับการรักษามากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ติด ส่วนผู้ติดตาเสพติดรุนแรงเข้ารับการรักษาเพียงหลักพันคน” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.จิโรจ กล่าวด้วยว่า เมื่อสำรวจผู้เข้ารับการบำบัดตามปีงบประมาณ 2555 ก็พบด้วยว่ายาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์มีผู้เข้ารับการบำบัดสูงที่สุด โดยเป็นยาบ้าอันดับ 1 จำนวน 77,653 คน และยาไอซ์รองลงมาเป็นอันดับ 2 จำนวน 5,412 คน ซึ่งในส่วนของยาไอซ์มีสัดส่วนผู้เสพเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ มากที่สุด 1.7% นอกนั้นจะเป็น กัญชา กระท่อม สารระเหย ฝิ่น เฮโรอีน เมธาโดน ยาอี ยาเลิฟ มอร์ฟีน โคเคน และอื่นๆ จำพวกสุรา เหล้าแห้ง ยาลดความอ้วน เอ็กซ์ตาซี แวเลียม ตามลำดับ

ด้าน พญ.วรางคณา รักษ์งาน สถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีความเชื่อผิดๆ ว่า คนติดยาเป็นคนนิสัยแย่ ติดยาแล้วไม่มีทางรักษาหาย หรือต้องรักษาด้วยการเข้าค่ายเท่านั้น ขอยืนยันว่า ในความเป็นจริงยาเสพติดทำให้สมองเปลี่ยนแปลงไป เพราะเกิดจากอาการสมองติดยา ส่วนที่บอกว่าเป็นโรคเรื้อรังเลิกแล้วก็กลับไปเสพอีกนั้น แท้จริงแล้วรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการรักษา ส่วนวิธีการรักษาไม่จำเป็นต้องเข้าค่ายอย่างเดียว แต่สามารถให้ความรู้ด้านกาย จิต สังคม ทานยารักษาต่อเนื่อง และครอบครัวผู้ติดยาให้ความรักความอบอุ่นก็สามารถหายขาดได้

“อยากให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ออกไป เพื่อให้คนไทยตระหนักว่า ผลของการติดยาเสพติดมีโทษต่อร่างกายผู้เสพทันที ไม่ต้องรอถูกจับกุม แต่ถ้าผู้เสพรู้ตัว และยินยอมเข้ารับการรักษา แม้จะเป็นเสพติดเรื้อรังก็รักษาให้หายได้ โดยเรามีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องมือช่วยตรวจสอบการทำงานของสมองให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากพอ และสามารถใช้ได้กับทุกคน และการเชื่อมโยงความร่วมมือแบบบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นในการประสานความร่วมมือรอบด้าน ทั้งนี้ หากเริ่มรักษาผู้ติดยาเสพติดได้เร็ว ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อผู้ติดยามากขึ้น และหากได้รับการบำบัดนานเท่าไร โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จก็มีมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจว่า การเสพติดซ้ำเป็นธรรมชาติของโรคสมองติดยา ไม่ใช่การรักษาที่ล้มเหลว ญาติและสังคมต้องเข้าใจและให้โอกาสด้วย” พญ.วรางคณา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น