xs
xsm
sm
md
lg

ครูพะเยาชี้ ศธ.ยุบ-รวม ร.ร.เล็ก เสี่ยงทำสายใย “บ-ว-ร” ขาดสะบั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ทั้งข้าราชการครู และอดีตครูเมืองกว๊านพะเยาประสานเสียงติงนโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนเล็ก ทำสายใยสัมพันธ์ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” หรือ “บ-ว-ร” ที่ยึดโยงคนในสังคมไทยมาช้านานขาดสะบั้น

นายวัชระ ศรีคำตัน ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 เปิดเผยว่า มีโรงเรียนในพื้นที่การศึกษาของ สพป.2 เข้าเกณฑ์ที่จะต้องถูกนำนักเรียนไปรวมกับโรงเรียนอื่น เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน จำนวนร้อยละ 60-70 แต่ยังพบว่า มีจำนวน 2 โรงเรียน เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการยกเว้น คือ

1.โรงเรียนบ้านต้นผึ้ง ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ เพราะอยู่บนดอยในพื้นที่ห่างไกล ต้องรองรับเด็กนักเรียนที่เป็นลูกหลานของประชาชนบนพื้นที่สูง และเดินทางมาเรียนในเมืองค่อนข้างลำบาก การคมนาคมไม่สะดวก และ 2.โรงเรียนบ้านนาบัว ต.สระ อ.เชียงม่วน เนื่องจากว่าเป็นโรงเรียนอยู่ห่างไกลใน อ.เชียงม่วน ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ลูกหลานของประชาชนในพื้นที่ชนบท หากต้องยุบรวมนักเรียนผู้ปกครองจะลำบากด้วย

ปธ.กก.เขต 2 กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงเรียนเล็กที่เข้าเกณฑ์ตามนโยบายของรัฐบาลจะต้องยุบ ควบรวม หรือประการใดก็ตาม สิ่งสำคัญตนอยากให้ทางรัฐเข้าใจถึงความรู้สึกของคนในชุมชนที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ด้วย เพราะว่าเมื่อมีโรงเรียนในพื้นที่ ทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องส่งลูกหลานเดินทางไกลไปเรียนห่างบ้าน สังคมของเด็กในชุมชนมีความผูกพันกัน ปัญหาวิวาทของเด็กๆ ไม่ค่อยเกิดขึ้น เด็กนักเรียนมีความผูกพันกับโรงเรียนและชุมชนของตนเอง

โดยเฉพาะโรงเรียนในชุมชนบางแห่งอยู่กับวัด ครูจะพาเด็กจะเข้าวัดในวันพระ ทำให้ผูกพันในสามเส้า คือ บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บ-ว-ร ซึ่งเป็นเสาหลักยึดโยงคนในชุมชนและสังคมท้องถิ่นมีความสามัคคี และห่วงใยเอื้อเฟื้อต่อกันมากขึ้น

“ดังนั้น การจะยุบ หรือควบรวมโรงเรียนเล็กจะต้องให้ความสำคัญของบุคคลในชุมชน บทบาทของชุมชนที่จะต้องร่วมกันดูแลโรงเรียนของชุมชน ซึ่งรัฐบาลจะกำหนดนโยบายใด ๆ ออกมาเกี่ยวกับการศึกษาอาจจะต้องระมัดระวังเรื่องผลกระทบต่อชุมชนด้วย” นายวัชระ กล่าว

ด้านนายรัฐวุฒิชัย ใจกล้า ประธานชมรมท้องถิ่นไทยจังหวัดพะเยา และอดีตประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ตนมีแนวคิดต่อต้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะโรงเรียนขนาดเล็กเกิดมาจากคนในชุมชนร่วมกันสร้าง เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ด้านการศึกษาให้แก่ลูกหลานของคนในชุมชน ไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่ห่างไกล ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เกิดความปลอดภัยเพราะเรียนใกล้บ้าน

ขณะที่โรงเรียนใหญ่ประจำอำเภอ ประจำจังหวัด โรงเรียนที่มีชื่อเสียง เปิดรับนักเรียนตามปริมาณที่นักเรียนอยากเรียน ทำให้อาจจะละเลยเรื่องคุณภาพทางการศึกษาไปบ้างจึงอยากให้รัฐบาลมีการพิจารณาเรื่องให้โรงเรียนขนาดใหญ่จำกัดจำนวนห้องเรียน และจำนวนนักเรียน

ขณะเดียวกัน ให้ปรับระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาจากการประเมินครูด้วยเอกสาร ให้เน้นการประเมินไปที่นักเรียน ยึดนักเรียนเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจเรื่องการศึกษาสู่พื้นที่รอบนอก ไม่ให้นักเรียนกระจุกตัวในเมืองใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น