xs
xsm
sm
md
lg

พม.จับมือภาคีเครือข่ายลงสระแก้วแก้ปัญหาการค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สระแก้ว - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จับมือภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่จังหวัดสระแก้ว

วันนี้ (21 พ.ค.) นายศุภฤกษ์ หงส์ภักดี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำคณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมตะวัน อ.เมือง จ.สระแก้ว โดยมีนายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นำนายพงษ์พิชญ์ ทองหิตานุวัฒน์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ พร้อมนำเสนอปัญหาต่างๆ

นายพงษ์พิชญ์ ทองหิตานุวัฒน์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดที่มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ยาวถึง 165 กม. ซึ่งเป็นทางผ่านของขบวนค้ามนุษย์ ซึ่งชาวกัมพูชา และเวียดนามมักจะลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จังหวัดสระแก้วมีพื้นที่ติดแนวชายแดน 4 อำเภอ ในพื้นที่ 13 ตำบล 61 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย อำเภอตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ และอำเภอคลองหาด แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อน แต่ทว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ภายในประเทศ

สำหรับท่าทีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย กลับถูกกำหนด และถูกทำให้เดินไปตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (Trafficking in Person -TIP Report) ซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ทุกปี แนวนโยบายและกิจกรรมด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย จึงเป็นแนวนโยบายเพื่อออกมาตอบโต้ หรืออุดช่องว่างจากรายงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกามากกว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดในประเทศ เห็นได้จากการตั้งอนุกรรมการบางอนุฯ ซึ่งมีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง และไม่มีรูปธรรมของการแก้ไขปัญหา หรือกิจกรรมในเชิงป้องกันบางกิจกรรมที่ไม่สอดคล้อง หรือเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ทิศทางหรือหลักสูตรในการทำงานเชิงป้องกันของแต่ละพื้นที่ ไม่เป็นหลักสูตรแบบแผนเดียวกัน การทำงานให้ความรู้เชิงป้องกันจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากนี้ การสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมในวงกว้าง หรือในระดับสาธารณะยังยึดติดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ และขาดการประสานในการทำงานเชิงป้องกันระหว่างหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

นายศุภฤกษ์ หงส์ภักดี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เปิดตัวศูนย์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการในปัญหาเรื่องการคัดแยกผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์

โดยเฉพาะการบังคับเด็กให้ขอทานยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยขาดประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายหน่วยให้ความช่วยเหลือเด็กขอทานต่างชาติในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ในลักษณะกวาดล้างตามข้างถนนโดยขาดการสืบสวนขยายผลไปยังผู้อยู่เบื้องหลัง

การกวาดจับลักษณะดังกล่าวมีผลต่อตัวเลขในการช่วยเหลือเด็กในจำนวนที่สูง แต่การคัดแยกผู้เสียหายกลับขาดล่ามแปลภาษาในการสอบสวน การคัดแยกผู้เสียหายหลายกรณีมักให้ขอทานผู้ใหญ่ที่พูดภาษาไทยได้เป็นผู้แปลภาษาให้เด็กขอทานฟัง หรือหากเป็นกรณีเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ ก็จะรับฟังความการสอบสวนจากผู้ใหญ่ที่อุ้มเด็กมาฝ่ายเดียว โดยขาดการตรวจพิสูจน์ผลเลือด (DNA) เพื่อยืนยันสถานะความเป็นแม่ลูก การคัดแยกผู้เสียหายในกรณีขอทานจึงมักด่วนสรุปว่าไม่ใช่ผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ และถูกผลักดันออกนอกประเทศทันที ตามข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญที่ฝังรากลึกอีกประการหนึ่งของการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย มีลักษณะ “บรรยากาศแห่งความกลัว” ระหว่างผู้เสียหายกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ แม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง ผู้เสียหายจำนวนมากไม่กล้าเข้าไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ

โดยเฉพาะหน่วยงานตำรวจ ด้วยเพราะเกรงว่าตำรวจอาจเข้าข้าง หรือมีผลประโยชน์กับผู้กระทำความผิด ในขณะที่หน่วยงานเอกชนส่วนใหญ่จำเป็นที่จะต้องสืบสวนหาข่าวกันเองจนแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แล้วจึงค่อยพิจารณาคัดเลือกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการเข้าดำเนินการร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น