xs
xsm
sm
md
lg

ภูกระดึงต้นแบบอุทยานฯ พลังงานสะอาดเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลย - กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าฯ มอบหมายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาทดลองให้ภูกระดึงเป็นต้นแบบอุทยานฯ ใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานสะอาด เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีพลังงานใช้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถมลพิษจากการใช้น้ำมัน และมลพิษของเสียงที่เกิดจากการใช้เครื่องปั่นไฟ เผยผลการใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานสะอาดบนภูกระดึงน่าพอใจ พร้อมขยายสู่อุทยานฯ ทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (18 พ.ค.) ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติภูกระดึง (วังกวาง) บนยอดอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดต้นแบบอุทยานแห่งชาติพลังงานสะอาดเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โครงการปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย

โดยมีนายสมพงษ์ จิราระรื่นศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับมอบอุปกรณ์ จาก รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นสถาบันการศึกษาที่มีการศึกษาวิจัยด้านพลังงานสะอาดเป็นเวลานานในหลายสาขาวิชา ทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนในหลายๆ เทคโนโลยี

ในปีนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยไทย เป็นอันดับ 55 ในเอเชีย จากการจัดอันดับสุดยอดมหาวิทยาลัยแห่งเอเชีย โดย (Times Higher Education Asia University Rankings) และได้รับให้เป็น 1 ใน 20 ทีมจากทั่วโลก และเป็นหนึ่งในอาเซียน ร่วมการแข่งขันสร้างบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Decathlon Europe 2014 ณ ประเทศฝรั่งเศส

ในส่วนการดำเนินงานศึกษาวิจัยด้านระบบพลังงานสะอาดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนั้น ได้ดำเนินงานผ่านห้องปฏิบัติการการบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยเริ่มจากการจัดหาไฟฟ้าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ.2537 โดยพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์ กังหันลม และเครื่องยนต์ดีเซล

ในส่วนของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเมื่อปี พ.ศ.2540 และเริ่มทดลองใช้งานระบบ มีการปรับปรุงระบบ เก็บข้อมูลรายวัน และติดตามการทำงานของระบบเรื่อยมา ในปี 2552 เป็นระยะเวลา 12 ปี หลังจากเริ่มต้นทดลองใช้งาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาอุปกรณ์บางส่วนในระบบเริ่มหมดอายุการใช้งาน ส่งผลให้ระบบไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน และปรับรูปแบบเป็นแบบร่วมไฟฟ้ากระแสสลับ (Pure AC Coupled Hybrid System) ซึ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ดังนั้น ในปี 2556 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำโครงการปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย (ต้นแบบอุทยานแห่งชาติพลังงานสะอาดเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน) ดำเนินการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั้งส่วนอุทยานฯ และร้านค้าบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง พร้อมทั้งลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ในส่วนระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน และระบบสูบน้ำในปัจจุบัน

พร้อมทั้งสาธิตระบบน้ำอุ่นพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในข่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีความมั่นคงในการผลิต และจ่ายพลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และนักท่องเที่ยวดีขึ้น

ดร.อุสาห์ บุญบำรุง นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน ปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ใช้งบประมาณทั้งโครงการเป็นเงิน จำนวน 10 ล้านบาท มีความสามารถในการผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น ขนาดกำลังผลิตรวม 105.28 กิโลวัตต์ จ่ายพลังงานให้แก่ภาระทางไฟฟ้า 169 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน ที่กำลังไฟฟ้าสูงสุด 23 และระบบผลิตน้ำประปา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยวกว่า 2,000 คนต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งสาธิตระบบผลิตน้ำอุ่นพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิต 600 ลิตรต่อวัน สำหรับนักท่องเที่ยวประมาณ 40 คนต่อวัน ซึ่งถ้าการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ จะดำเนินการขยายผล และติดตั้งเพิ่มเติมต่อไป

นายสมพงษ์ จิราระรื่นศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ทางกรมฯ มีนโยบายที่จะให้อุทยานฯ ทุกแห่งเป็นอุทยานสีเขียว หรือ Green National Park ลดมลพิษทุกชนิดบนอุทยานฯ ทั่วประเทศ เรื่องมลพิษจากการใช้น้ำมัน และมลพิษของเสียงที่เกิดจากการใช้เครื่องปั่นไฟ จะยึดที่นี่เป็นต้นแบบที่ไฟฟ้าไปไม่ถึง เช่น อุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น อุทยานแห่งชาติสิมิลัน สุรินทร์ และอุทยานขนาดเล็กอีกหลายเกาะ

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาอุทยานฯ ทางภาคเหนือที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มาเลยกว่า 20 ปี ซึ่งก็เหมือนกับอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ตั้งมากว่า 50 ปี เพิ่งมีไฟฟ้าใช้เมื่อปี 2511 และเปิดบริการตั้งแต่ 18.00 น. จนถึง 22.00 น. บัดนี้สามารถมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น