เอเยนซี - จีนเผยว่าในปี 2555 สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมได้มากกว่าปีก่อนหน้า ถึงร้อยละ 41
สำนักงานพลังงานแห่งชาติจีน เผย (9 เม.ย.) ว่า จีนสามารถผลิตไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานลมในปี 2555 เพิ่มอีก ร้อยละ 41 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยคำนวณพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดราว 1.008 แสนล้าน กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
รายงานระบุว่า ปริมาณผลิตดังกล่าวเทียบเป็นร้อยละ 2 ของกำลังผลิตทั้งหมดในประเทศ และทำให้สามารถลดการสร้างมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าถ่านหิน ไปได้มากกว่า 32.86 ล้านตัน
ด้านผู้เชี่ยวชาญพลังงานให้ความเห็นว่า จีนลงทุนในการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายลงทุนเพิ่มให้ได้อีก 100 กิกะวัตต์ภายในปี 2563 ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและซิงหัวเคยรายงานว่า จีนมีสามารถผลิตพลังงานลม ด้วยต้นทุนไม่ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ ต่อประชากร 1 คน ภายในปี 2030 ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐฯ มาก
ซีอาร์ไอ รายงานว่า ภูมิภาคที่มีพลังงานลมอุดมสมบูรณ์ของจีน อยู่ที่ทุ่งหญ้าหรือทะเลทรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกของจีนเป็นสำคัญ รวมทั้งชายฝั่งทะเล และเกาะทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบัน สถานีกำเนิดไฟฟ้าด้วยพลังงานลมที่ใหม่สุดของจีนและใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ สถานีกำเนิดไฟฟ้าด้วยพลังงานลมต๋าปั๋นเฉิงของซินเจียง ด้วยกำลังผลิตทั้งสิ้น 57,500 กิโลวัตต์ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 300 กิโลวัตต์ 500กิโลวัตต์ และ 600 กิโลวัตต์ จำนวน 110 เครื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานถ่านหิน ซึ่งจะยังคงเป็นสัดส่วนสองในสามไปจนถึงปี 2563
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว จีนได้ยุติการอุดหนุนแก่ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมพลังงานลมในประเทศ หลังจากสหรัฐฯ ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังองค์การการค้าโลก หรือ WTO ขณะที่จีนก็เห็นว่า ภาคการผลิตฯ มีความแข็งแกร่งพอที่จะขึ้นมามีบทบาทแข่งขันในระดับโลกได้แล้ว”
โดยครั้งนั้น สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าให้เงินอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายแก่โรงงานกังหันลมที่ใช้วัสดุของจีนในการผลิต เป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ นับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ขณะที่ฝ่ายจีนยืนยันว่า จีนปฏิบัติตามกฎขององค์การการค้าโลกอย่างเข้มงวด
สหรัฐฯ เผยว่า เงินอุดหนุนของจีนนั้นมีมูลค่าสูงถึง 22.5 ล้านดอลลาร์ต่อ 1 โรงงานทีเดียว
ไชน่าเดลี รายงานว่า “กลุ่มบริษัทจีน โดยเฉพาะบริษัทซินเจียง โกลด์วินด์ แอนด์ เทคโนโลยี ชี้ว่า เม็ดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีนไม่มากอยู่แล้ว ดังนั้นการที่รัฐบาลไม่ให้เงินช่วยเหลือก็ไม่ได้กระทบอะไรมากมาย”
บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ให้ความเห็นว่า จีนมีแนวทางชัดเจนในการให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน ซึ่งรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง จนล่าสุด ดัชนีการปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Performance Index - CCPI) ประจำปี 2556 โดยองค์กร GERMANWATCH ระบุว่า จีนพัฒนาด้านนี้เขยิบขึ้นมา 3 อันดับ อยู่ที่อันดับ 54 ของโลก ไล่ตามไต้หวันซึ่งปัจจุบันอยู่อันดับที่ 52