xs
xsm
sm
md
lg

คาดสถานีรถไฟเร็วสูงปักธงพิษณุโลก-สนข.เชื่อนักการเมืองล็อกเส้นทางไม่ได้แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - สนข.เปิดเวทีรับฟังความเห็นรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รอบสุดท้ายของพิจิตร-พิษณุโลก ก่อนเปิดเวทีที่สุโขทัยปลายเดือนนี้ คาด 80-90% ทำสถานีที่เมืองสองแคว ชี้ที่กองบิน 46 เหมาะสุด เชื่อนักการเมืองล็อก 1 ใน 5 เส้นทาง ลงหมุดสถานีตัวเองไม่ได้แน่

วันนี้ (3 พ.ค. 56) นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ที่ทีมงานบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดขึ้นที่โรงแรมอมรินทร์ ลากูน จังหวัดพิษณุโลก โดยเชิญนักธุรกิจ, หัวหน้าส่วนราชการ, อปท.ในเขตพิจิตร-พิษณุโลก เข้าร่วมประมาณ 300 คน

ดร.พิเชฐ คุณาคุณธรรมรักษ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการขนส่งระหว่างเมือง สนข. เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความเห็นวันนี้เป็นครั้งสุดท้ายของจังหวัดพิษณุโลก และพิจิตร จากนั้นปลายเดือนนี้ จะทำประชาพิจารณ์ที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อรวบรวมผลการศึกษาสิ่งแวดล้อม ความเหมาะสม ความเห็นของประชุมให้แล้วเสร็จทั้งหมดสิ้นเดือนมิถุนายน 56 นี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ สนข.พิจารณาความเหมาะสมและนำเสนอสภาพัฒน์ เพื่อให้ ครม.อนุมัติ

“เป็นไปได้ 80-90% ว่ารถไฟความเร็วสูงจะลงสถานีพิษณุโลก กรณีเลือกแนวรถไฟเดิม ซึ่งตามผลการศึกษาได้เลือกสถานที่ไว้ทำเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง 3 แห่ง ที่เป็นไปได้มากสุด คือ ที่ดินราชพัสดุ 200 ไร่บริเวณกองบิน 46 พิษณุโลก รองลงมาคือ บริเวณ ต.บึงพระ และสถานีรถไฟพิษณุโลกเดิม”

สำหรับที่ดินราชพัสดุภายในกองบิน 46 พิษณุโลก ถือว่าเป็นที่ว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อยู่ใกล้สนามบิน เหมาะสำหรับก่อตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเร็วนี้ๆจะมีการเจรจาเพื่อขอใช้ที่ดิน ส่วนสถานี ต.บึงพระยังถือว่าไกลไป ขณะที่สถานีรถไฟพิษณุโลกเดิมถือเป็นทางเลือกท้ายสุด เพราะเป็นเขตชุมชน

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมรัฐบาลไทยไม่ร่วมทุนกับรัฐบาลจีนเพื่อทำรถไฟความเร็วสูง หน.กลุ่มพัฒนาการขนส่งระหว่างเมืองบอกว่า หากให้สิทธิ์ไปปัญหาอยู่ที่ขอบเขตริมทางรถไฟเดิมที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากถือว่ายุ่งยาก เพราะจะต้องกันรัศมีออกไปถึง 500 เมตร

ดร.พิเชฐกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน เช่น ระยะเวลาก่อสร้าง, วิศวกรรม เศรษฐกิจ, การเงิน และสิ่งแวดล้อมความเหมาะสมด้านต่างๆ ก่อนตัดสินใจเลือก 1 ใน 5 เส้นทาง

คำถามที่ว่า นักการเมืองจะล้วงลูกล็อกเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหรือไม่นั้น หน.กลุ่มพัฒนาการขนส่งระหว่างเมืองบอกว่า มีหลายหน่วยงานเป็นคณะกรรมการและมีสภาผู้แทนราษฎรเข้าตรวจสอบ คิดว่าโปร่งใส นักการเมืองไม่สามารถล็อกสเปกเลือก 1 ใน 5 เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกได้

ทั้งนี้ แนวรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีการศึกษาอยู่ 5 เส้นทาง คือ 1.ขนานไปตามแนวรถไฟเดิม บางซื่อ จ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ จ.ลำปาง จ.ลำพูนจ.เชียงใหม่ ระยะ 677 กม.

2. ตามแนวรถไฟเดิมเหมือนกับแนวทางเลือกที่ 1 จนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วใช้แนวเส้นทางใหม่ ไปทางฝั่งตะวันตกไปบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายเดิมที่ อ.พยุหะคีรี สถานีปากน้ำโพ แล้วใช้แนวเส้นทางใหม่ ไปถึง อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก จากนั้นตัดเข้าแนวรถไฟเดิม มุ่งสู่ อ.เมืองพิษณุโลก แล้วใช้แนวเส้นทางใหม่ด้านทิศตะวันตก มุ่งไป อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายเดิมที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ผ่าน จ.ลำพูน และสิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 639 กม.

3. เหมือนทางเลือกที่ 2 จนถึง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ จากนั้นจะใช้แนวเส้นทางใหม่ออกไปทางด้านทิศตะวันตกของ จ.นครสวรรค์ ผ่าน อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร และมาบรรจบกับแนวทางเลือกที่ 2 ที่ อ.เมือง จ.สุโขทัย ระยะทางประมาณ 610 กม.

4. ขนานไปตามแนวรถไฟเดิมจนถึงวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกทางพิเศษหมายเลข 9 จากนั้นเบี่ยงออกไปทางทิศตะวันตกของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ผ่าน จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท จ.อุทัยธานี จ.นครสวรรค์ แล้วขึ้นเหนือตัดไป จ.สุโขทัย แล้วเบนออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าสู่ อ.สบปราบ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ผ่าน จ.ลำพูน สิ้นสุด อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 597 กม.

และ 5. ช่วงบางซื่อ-พิษณุโลก ใช้แนวเส้นทางเหมือนทางเลือกที่ 1 และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ใช้แนวเส้นทางเหมือนทางเลือกที่ 2 ระยะทางประมาณ 669 กม.

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกกล่าวว่า ทางเลือก 5 เส้นรถไฟความเร็วสูง ถ้าไม่เกาะเส้นทางหลัก หรือผ่านพิษณุโลกก็ไม่ดี เพราะจะต้องลงทุนสูง เสียเวลา มีปัญหามาก แนวรถไฟเดิมที่ผ่านพิษณุโลกน่าจะเหมาะสมมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น