พระนครศรีอยุธยา - วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สั่งตัดสลิงสะพานมรณะเพื่อตรวจสอบ และกู้ซากแล้ว พบพิรุธรอยฉาบปูนใหม่ก่อนสะพานถล่ม สตง.ลงพื้นที่เก็บหลักฐานความไม่โปร่งใส่ในการก่อสร้าง และปรับปรุงซ่อมแซม รองนายก อบจ.อยุธยา จี้ผู้รับเหมาแสดงความรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีสะพานสลิง 200 ปี ข้ามแม่น้ำป่าสักวัดสะตือ วัดสะตือพุทธไสยาสน์ บ้านท่างาม หมู่ที่ 6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่พังถล่มลงมาทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อเย้นวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า วันนี้ (30 เม.ย.) เจ้าหน้าที่จากสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 1 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สตง.) พร้อมนายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศบาลตำบลท่าหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าตรวจที่เกิดเหตุบริเวณสะพานถล่ม โดยทำการตรวจสอบตัวตอม่อ และตรวจสอบที่ตัวสลิงอย่างละเอียด
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ สตง.กล่าวว่า การเดินทางมาตรวจสอบสะพาน 200 ปี ที่พังถล่มในวันนี้ เพื่อตรวจสอบในเรื่องวัสดุต่างๆ ในการก่อสร้างสะพานว่า ได้มาตรฐานหรือไม่ และตรงตามสเปก ประกอบกับแบบการก่อสร้างว่าตรงกับระเบียบหรือไม่ เพื่อหาข้อเท็จจริงข้อมูลขอการก่อสร้างตัวสะพานแห่งนี้ทั้งหมด
ด้าน นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศบาลตำบลท่าหลวง เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ สตง.ได้เดินทางมาตรวจสอบ และดูสัญญาในการก่อสร้าง หลังจากที่วิศวกรรมสถานได้เดินทางมาตรวจสอบไปแล้วเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า เสาตอม่อทั้งสองฝั่งมีความมั่นคง ซึ่งทาง สตง.ก็ได้รับทราบ จึงทำให้เกิดความสบายใจในการที่จะก่อสร้างขึ้นมาทดแทนสะพานที่พังถล่มลงมาขึ้นใหม่
ส่วนการช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต และบาดเจ้บนั้น นายเชษฐา กล่าวว่า ทางเทศบาลตำบลท่าหลวง กำลังให้ฝ่ายกฎหมายดูระเบียบให้ชัดเจนว่า ผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บควรจะได้รับเงินชดเชยเท่าใด โดยทางเทศบาลจะพยายามหาทางหาเงินมาช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด ส่วนการทำสะพานขึ้นใหม่นั้นกำลังดูสัญญา และเงื่อนไขกับผู้รับเหมาอยู่ เพราะยังอยู่ในช่วงประกันสัญญาการก่อสร้าง และในขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลท่าหลวง บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ไปสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของการเกิดเหตุสะพานทรุดตัวแล้ว
ต่อมา เวลา 14.00 น. วันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถาน เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน และหน่วยกู้ภัยอยุธยารวมใจได้นำอุปกรณ์ตัดถ่าง และนักประดำน้ำ จำนวนอย่างละ 4 ชุด พร้อมรถแบ็กโฮ ร่วมทำการเจาะพื้นผิวปูนซีเมนต์ที่ฝังตัวยึดลวดสลิงเพื่อคลายลวดสลิงที่ยังคงมีสภาพตึงบางเส้นอยู่ออก โดยใช้รถแบ็กโฮขุดเจาะที่ฐานทั้งสองด้านและทั้งสองฝั่งสะพาน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปรากฎพบว่า มีลวดสลิง 11 เส้นโดยมีตัวล็อกลวดสลิงอยู่
ทั้งนี้ การคลายลวดสลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการคลายลวดสลิงและอุปกรณ์ที่นำมาก็ไม่ตรงกับงาน ต้องใช้เครื่องมืออื่นมาช่วยแทน และในบ่อพบมีน้ำท่วมขังอยู่ที่บริเวณตัวฐานสลิงด้านซ้ายของสะพาน จากการตรวจสอบพบว่ามีการฉาบปูนใหม่ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเก็บหลักฐานเอาไว้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการซ่อมแซมตัวที่สะพานเอียงก่อนหน้าที่จะถล่มจะต้องตรวจสอบจากผู้รับเหมาอีกว่า มีการมาปรับปรุงสลิงตรงจุดนี้หรือไม่
นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า การขุดเจาะเพื่อคลายลวดสลิงออกนี้เพื่อให้การตัดลวดสลิงที่บริเวณกลางสะพานที่พังถล่มลงไปในแม่น้ำตัดได้ง่ายขึ้น และไม่เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยจะตัดสลิงที่ขาด และที่ไม่ขาดท่อนละประมาณ 1 ฟุต เพื่อนำไปตรวจสอบว่าสาเหตุที่สลิงขาดเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ โดยจะทำการตรวจพิสูจน์ร่วมกันของวิศวกรรมสถาน และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานต่อไป
“อบจ.กรุงเก่า” บี้ผู้รับเหมารับผิดชอบ
ด้านนายชาตรี อยู่ประเสริฐ รองนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการเรียกร้องให้บริษัทดีไนซ์ 2009 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ผู้ประมูลงานก่อสร้างจากเทศบาลตำบลท่าหลวง โดยงบประมาณจาก อบจ. เป็นเงิน 8.2 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ค.55 รับผิดชอบทั้งหมดหลังเกิดเหตุสะพาน 200 ปีข้ามแม่น้ำป่าสักพังถล่ม ทั้งนี้ ในสัญญาจ้างระบุว่า สิ้นสุดระยะประกันผลงานการก่อสร้างในวันที่ 23 ก.ค.2557
“ดังนั้น การที่สะพานแขวนขาดในช่วงระยะเวลาประกัน ในทางกฎหมายบริษัทเอกชนที่ก่อสร้างจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งความเสียหายของสะพานที่ต้องสร้างทดแทนใหม่ ต้องรับผิดชอบในคดีอาญาที่ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต รับผิดชอบคดีทางแพ่ง กรณีญาติผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทางบริษัทดังกล่าวยังไม่แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะรับผิดชอบทั้งหมด แต่ภาครัฐเองต้องเร่งดำเนินการให้บริษัทเอกชนดังกล่าวมารับผิดชอบโดยเร็วเช่นกัน”
คลิกเพื่อชมคลิป: