xs
xsm
sm
md
lg

สื่ออุบลฯ กระตุ้นต่อมสำนึกราชการไทยกับความหวังของคนไร้รัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ตั้งวงทวงถามสิทธิการเป็นพลเมืองของคนไร้สัญชาติ กก.วุฒิสภา องค์กรพัฒนาเอกชนระบุตรงกันมีกฎหมายรองรับ แต่ไร้ผู้ปฏิบัติ สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตของคนไร้รัฐ ซึ่งอดีตไทยใช้เป็นกันชนช่วงสงครามเย็น

ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การ USAID ประเทศไทย จัดเสวนาปัญหาคนไร้รัฐ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทุกภาคส่วนแจง ความหวัง ความฝัน ของคนไร้สัญชาติ ที่อาศัยอยู่ตามชายขอบของประเทศไทยด้านพรมแดนไทย-ลาว

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการได้เล่าถึงปัญหาของคนชายขอบของจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ตั้งแต่สงครามอินโดจีนสิ้นสุดลง แต่สังคมไทยกลับยังมีปัญหาเรื่องสถานะทางทะเบียนของคนไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นผู้อพยพหนีภัยสงครามเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน โดยคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งการขอรับบริการทางการแพทย์ การศึกษา การเดินทาง การประกอบอาชีพ เพราะราชการมองว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย เพราะคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มเล็กในประเทศไทยเท่านั้น จึงเป็นปัญหาหมักหมมทางสังคมตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์ ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคนไร้รัฐให้ความเห็น ว่า ถ้าเทียบกับประชากรทั้งประทศ คนไร้สัญชาติมีสัดส่วนที่น้อย แต่ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน เกิดอยู่ในประเทศไทย แม้ไม่มีสัญชาติไทย แต่ก็ถือเป็นราษฎรของไทย เพราะถ้าปล่อยให้คนเหล่านี้มีปัญหาเชื่อว่าสังคมอนาคตจะมีปัญหาตามเช่นกัน จึงมีความพยายามแก้ปัญหานำกฏหมายมาตรา 23 มาบังคับใช้ เฉพาะที่สำรวจคนไร้สัญชาติ 800 คนของจังหวัดอุบลราชธานี มีคนเข้าข่ายอยู่เพียง 223 คน ในจำนวนนี้มี 56 คนที่ได้รับสัญชาติไทยไปแล้ว

ส่วนคนที่ยังค้างคา เพราะระบบราชการที่ล่าช้าและไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบน “ทำให้คนไร้สัญชาติ ซึ่งแทบทั้งหมดมีฐานะยากจน ไม่มีเงินไปจ่ายใต้โต๊ะ” รวมทั้งกระบวนการสอบสวนพยานมีข้อกำหนดต้องเป็นพยานที่น่าเชื่อถือและมีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้คนไร้สัญชาติประสบความยากลำบากในการหาพยานใช้ยืนยันตัวบุคคล กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ จึงไม่ก่อประโยชน์ให้กับคนเหล่านี้ เพราะติดขัดอยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุกาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาติดตาม และตรวจสอบข้อเสนอเชิงนโยบายในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทยที่ตกสำรวจของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า รัฐยังมีความเชื่อหากให้สัญชาติแล้ว จะทำให้คนต่างชาติทะลักเข้าไทยมากขึ้น เป็นความคิดที่พูดขึ้นลอยๆ เพราะการอพยพไปประเทศอื่นต้องมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ช่วงก่อนและหลังสงครามอินโดจีนราวปี 2518 มีผู้อพยพต้องหนีตายหลบหนีเข้ามา แต่ปัจจุบันเหตุการณ์แบบนี้ไม่มีแล้ว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทย เริ่มมีความเจริญไม่ได้อดอยากปากแห้งเหมือนยุคก่อน และประเทศไทยเอง ก็ไม่ได้เจริญมาก จนทำให้คนต่างชาติอยากเข้ามา หากไม่มีแรงจูงใจจากภัยสงคราม หรือเศรษฐกิจจึงไม่มีทางที่คนเหล่านั้นจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่

นายสุรพงษ์ยังระบุว่า สำหรับสถานภาพของมนุษย์ ตามหลักหนึ่งคนต้องมีอย่างน้อย 1 รัฐมาคุ้มครอง ซึ่งเรียกว่าสัญชาติคนที่มีสัญชาติไทยจะไปตกระกำลำบากอยู่ประเทศไหน รัฐไทยก็จะต้องไปช่วยเหลือ

ปัจจุบันความเข้มงวดเรื่องการให้สัญชาติลดความเข้มงวดกว่าอดีต ดูได้จาก พ.ร.บ.สัญชาติ มาตรา 23 ซึ่งให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานหรือได้จากสถานภาพด้วยการเกิดอยู่ในประเทศ รัฐก็ให้สัญชาติ แต่อาจแตกต่างด้วยตัวเลขนำที่ใช้ขึ้นทะเบียน

“เพียงหาหลักฐานมายืนยันกับเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ก็จะต้องออกหนังสือรับรองความเป็นไทยให้แล้ว”

สำหรับเรื่องพยาน ขณะนี้มีหนังสือสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทย เพียงแต่เป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ พูดจารู้เรื่อง เพราะหากเกิดการผิดพลาด พยานต้องรับผิดชอบในข้อหาให้การเท็จต่อราชการ

นายสุรพงษ์ยังขยายความในเรื่องเดียวกันนี้ว่า “ผู้ไร้สัญชาติ พ่อแม่เป็นไทย มีลูก แต่ไม่ได้แจ้งเกิดหรือตกหล่น สามารถเอาพยานเท่าที่มีทั้งเอกสารและบุคคลไปยืนยัน ถ้าไม่มีพยานให้ไปยื่นเรื่องที่ว่าการอำเภอเพื่อขอตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งปีนี้กระทรวงมหาดไทยและหลายหน่วยงานมีนโยบายตรวจดีเอ็นเอให้ฟรี”

สำหรับกรณีเป็นกลุ่มลาวอพยพ หรือเวียดนามอพยพ ให้มายื่นเรื่องที่สำนักทะเบียน พร้อมหลักฐานเพื่อตรวจสอบ หากหลักฐานครบก็สามารถมีสัญชาติได้เหมือนกัน

หรือกรณีบัตรขึ้นต้นด้วยเลข 0 รัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบายพัฒนาสถานะ แต่รัฐบาลก็ให้สิทธิ์อยู่อาศัย โอกาสจะได้สัญชาติไทย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาสัญชาติหรือไม่ เหล่านี้คือความพยายามที่แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ ซึ่งออกโดยฝ่ายนโยบาย แต่ติดขัดในระดับปฏิบัติในพื้นที่

ขณะที่นายสมศักดิ์ อินทะโสม คนไร้สัญชาติ อ.โขงเจียม ที่เข้าร่วมรับฟังการเสวนากล่าวว่า การเป็นคนไร้สัญชาติทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ทั้งการเดินทาง การทำมาหากิน การรักษาโรค หรือแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ที่ผ่านมาพยายามเรียกร้อง แต่กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ล่าช้า แต่เริ่มมองเห็นแสงสว่างจากการเสวนาครั้ง เพราะทราบถึงสิทธิ ระเบียบขั้นตอนในการยื่นเรื่องขอรับสัญชาติไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับบุคคลไร้รัฐ หรือบุคคลไร้สัญชาติในจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีอยู่ราว 7,000 คนโดยเป็นลูกหลานของผู้อพยพหนีภัยสงครามตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องถึงสงครามอินโดจีน

ส่วนหนึ่งจึงเป็นคนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศ อีกส่วนมีสถานะเป็นผู้อพยพ มีการอาศัยอยู่ทั้งตามตะเข็บแนวชายไทย-ลาว และอาศัยตามชุมชนตัวเมือง ทั้งนี้ การจะได้รับสัญชาติของบุคคลเหล่านี้มีเงื่อนไขด้านการเมืองระหว่างประเทศเป็นปัจจัยด้วย เพราะอดีตคนเหล่านี้ถูกใช้เป็นกันชนระหว่างโลกคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีประชาธิปไตย ขณะที่ทั้งโลกคุกกรุ่นอยู่ในช่วงสงครามเย็นของสองขั้วมหาอำนาจโลก เมื่อความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจลดลง คนเหล่านี้ก็ถูกทิ้งโดยไม่ได้รับการแก้ไขมาถึงทุกวันนี้

สำหรับการเสวนาในประเด็นนี้สามารถชมเทปบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่ สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่อง ของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM. 102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz

กำลังโหลดความคิดเห็น