xs
xsm
sm
md
lg

เสียงก้องจากเด็กชายแดน อาเซียนนั้นใกล้ แต่การเรียนของหนูอีกไกล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในฐานะผู้มาเยือนเพียงแค่ใบหน้าเล็กๆ ของผู้เป็นเจ้าถิ่นฉีกยิ้มเล็กๆ พลางเอ่ยเชิญชวนทานข้าวร่วมครัวเรือน เป็นน้ำใจที่มากมายแล้วในสังคมปากกัดตีนถีบ ความน่ารักสดใสของ “แซ พลามูวา” สาววัย 14 ปี เยาวชนบ้านแม่ดึ๊ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในเขตชายแดนไทย-พม่า แม้ภายนอกจะดูมีความสุขด้วยวัยไร้เดียงสา แต่ลึกๆ แล้ว เธอกลับแอบเก็บความเจ็บปวดไว้ไม่น้อย

แซ ย้อนว่า ที่หมู่บ้านแม่ดึ๊ เด็กปะกากะญอในหมู่บ้านแม่ดึ๊ และบ้านใกล้เคียง ล้วนมีปัญหาเรื่องสัญชาติกันทั้งสิ้น บ้างต้องเรียนในศูนย์การศึกษาชุมชน (ศศช.) เพื่อศึกษาภาษาไทยกับครูที่มีเพียง 2 คนในศูนย์ ขณะที่บางคนก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปเรียนใน อ.แม่สะเรียง ได้ แม้ว่าจะมีอายุมากเกินกว่าเด็กทั่วไปก็ตามแต่ก็ต้องเรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้มีงานทำตามปราถนา ส่วนตัว แซ เองนั้นแม้อายุเข้าสู่วัยมัธยม แต่การศึกษาของเธอทำได้แค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงจากบ้านแม่ดึ๊ โดยการรับส่งของเรือจากเพื่อนบ้าน

ทันทีที่ความมืดปกคลุมหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวปะกากะญอ แสงเทียนค่อยๆ ฉายแววตาและใบหน้าของแซ พร้อมด้วยชาวปะกากะญอ ที่รายล้อม “ครูแดง” เตือนใจ ดีเทศน์ ประธานเครือข่ายคนไร้สัญชาติ ซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านเพื่อสำรวจปัญหา แซ เข้ามานั่งข้างๆ “ลุงฉา” ทำหน้าที่ล่ามเล่าเรื่องราวของลุงวัย 54 ปี ชาวปะกากะญอ ที่พยายามดำเนินการขอสัญชาติจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ แต่กลับได้ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่ราชการไม่ทราบนามรายหนึ่งระบุว่า ลุงฉา แก่เกินวัยจะถ่ายรูปทำบัตร ทั้งที่ร่างกายก็ทรุดโทรมลงทุกครั้ง แต่ลุงฉางก็พยายามจะต่อสู้เพื่อขอสัญชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเครือข่ายคนไร้สัญชาติคอยให้คำปรึกษา

แม้ว่าสำเนียงภาษาไทยของแซ ไม่ชัดเจนมากนัก แต่เธอสามารถอธิบายเรื่องราวของผู้เฒ่าไร้สัญชาติได้อย่างฉะฉาน ทั้งนี้ เมื่อถามถึงอนาคต แซระบุว่า อยากเรียนให้สูงแล้วโตขึ้น จะเปิดโรงเรียนสอนสองภาษา แต่ไม่ใช่ภาษาต่างชาติอะไร ก็แค่ฝันอยากเป็นครูสอน ภาษาปะกากะญอ กับภาษาไทย ให้รุ่นน้องในพื้นที่ชายแดน เท่านั้น
นายไพโรจน์
เตือนใจ ดีเทศน์ ประธานเครือข่ายคนไร้สัญชาติ กล่าวว่า กรณีปัญหาคนไร้สัญชาติบ้านแม่ดึ๊ เป็นเหมือนพื้นที่ใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสำรวจและเก็บข้อมูลประมาณ 1-2 ปี เพื่อเปลี่ยนสถานะของคนบนพื้นที่สูงให้เป็นผู้มีตัวตน และง่ายต่อการขอรับสิทธิในฐานะคนไทย แต่บางกรณีต้องใช้เวลาสอบพยาน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ในรุ่นเด็ก และเยาวชนอาจไม่ยุ่งยาก เพราะยังมีเวลามากพอสมควร แต่กรณีผู้เฒ่านั้น อาจจะหารือร่วมหน่วยงานอื่นๆ อีกทีในวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 เม.ย. 2556 นี้ ณ บ้านใกล้ฟ้า มูลนิธิ พัฒนาชุมชน และ เขตภูเขา (พ ช ภ.) จ.เชียงราย

ไพโรจน์ พรจงมั่น ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายชุมชน ย้ำว่า ปัญหาไร้สัญชาติ และการศึกษา ยังคงมีอยู่มากมายในกลุ่มคนบนพื้นที่สูง แต่ความกังวลที่ตนมีและคิดว่าควรแก้ปัญหาโดยด่วน คือ เรื่องของการศึกษา เพราะอีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่คนแถบชายแดน กลับมีชีวิตที่ยากต่อการเข้าถึงระบบการศึกษาของประเทศ ทั้งๆ ที่มีส่วนเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด แต่รัฐบาลไทยกลับมองข้าม ขณะที่สถานการณ์ของเด็กชาติพันธุ์ต่างๆ กลับถอยห่างออกไปจากการศึกษาในระบบทุกที อย่างกรณีเด็ก ศศช.บ้านแม่ดึ๊ หลายคนต้องพยายามจะขวนขวายหาทางศึกษาต่ออย่างตั้งใจ บางคนเดินทางไกลห่างบ้านเกิดไปเรียนใน อำเภอ เพราะในชายแดนมีครูไม่เพียงพอ ขณะที่บางคนต้องพลาดหวังหลังเรียนจบชั้นประถม เพียงเพราะติดปัญหาเรื่องไร้บัตรประจำตัวประชาชน ขณะที่ ศศช.แม่ดึ๊ เองก็ขาดแคลนทั้งอุปกรณ์การศึกษา ส่วนครูที่มีความสามารถจากภายนอกก็อาสาเข้ามาสอนกันน้อย เพราะเรื่องระบบคมนาคม นั้นยังยากต่อการเข้าถึง ทั้งรถ ทั้งเรือ

ขณะที่ครูดอยอย่าง ครูวีระชัย พายุหมุนวน ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบการสอนใน ศศช.บ้านแม่ดึ๊ เสริมว่า สังคมอาเซียนเป็นสิ่งที่ดูกว้างในมุมมองของรัฐบาลไทยในแง่เศรษฐกิจ ส่วนการศึกษาในระบบเมืองไม่ต้องกล่าวถึง เพราะแต่ละแห่งต่างแข่งขันกันเรื่องการพัฒนาสถานศึกษาเป็นแบบ 2 ภาษา หรือเน้นหลักสูตร English Program กันมากขึ้น มีการเพิ่มช่วงเวลาของการเรียนททักษะภาษากันดูจริงจัง แต่เด็กๆ ชายแดนแม้แต่ภาษาบ้านเกิดอย่าง ภาษาไทย ก็ยังยากจะเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งงบประมาณ เรื่องไร้สัญชาติ และการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงสอบเทียบเข้าโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยแล้ว ความเป็นไปได้มีอยู่ แต่หลายคนถอดใจเพราะการเดินทางไม่เอื้อ ฐานะทางบ้านก็จนเกินกว่าจะเดินทางไปเรียนไกลบ้าน ฯลฯ

จำนวนเด็กใน ศศช.บ้านแม่ดึ๊ ขณะนี้มีอยู่ 24 คน มีทตั้งแต่ชั้นก่อนอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกาปีที่ 6 อายุต่ำสุด 3 ขวบ และสูงสุด 16 ปี เด็กๆ ต้องเรียนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และทักษะการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ร่วมด้วย หลายคนมีภาระต้อรับผิดชอบในการช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำการเกษตร เวลาเรียนก็น้อย ดังนั้น ศศช.จึงไม่มีการปิดภาคเรียน แต่ครูที่มีอยู่ 2 คนจะช่วยกันสอนในวิชาต่าง แล้วจะแยกเด็กที่มีทักษะการเรียนดีไปสอบแข่งขันทักษะวิชาการ เพื่อจิงทุนตามสิทธิที่พึงได้รับ กรณีที่เป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับบัตรประจำตัวบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนจะค่อนข้างยาก โดยแต่ละปีทาง ศศช.จะรวบรวมรายชื่อเด็กนักเรียนที่มีสิทธิสอบทักษะวิชาการเพื่อสำรวจสถานภาพก่อนการส่งรายชื่อเข้าสอบประมาณ 3-4 เดือน เพื่อดำเนินการด้านเอกสารให้แล้วเสร็จก่อน โดยมีเด็กไร้สัญชาติประมาณปีละ 7-10 คน

เด็กๆ ที่มีความรู้ขั้นพื้นฐานและมีผลการเรียนดี รวมทั้งผ่านการสำรวจสถานภาพแล้ว ทาง ศศช.จะมีการส่งต่อเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.เช่น โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง เป็นต้น ขณะที่ผู้ที่เรียนดีและมีความสามารถสูงจะส่งเข้าไปสอบทักษะวิชาการเพื่อปูทางให้เด็กได้รับวางใจจากโรงเรียนปลายทางว่าพวกเขามีความสามารถ ซึ่งจะต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านแม่เหล ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง การเดินทางเริ่มจากลงเรือจากแม่ดึ๊ ประมาณ 20 นาที ที่บริเวณ บ้านแม่ก๋อน แล้วเดินขึ้นเขาไปอีกไกล ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ไปกลับก็นานเป็น 10 ชั่วโมงกว่า แต่ก็ต้องทำเพราะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนทุกคน” ครูวีระชัย อธิบาย

นอกจาการทำหน้าที่แม่พิมพ์ของเด็กๆ แล้ว ครูดอยของบ้านแม่ดึ๊ ต้องทำหน้าที่ผู้ปกครองในยามเด็กป่วยด้วย เพราะบางรายพ่อและแม่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ แต่การส่งตัวเด็กๆ ชายแดนเข้าสู่โรงพยาบาลในเมืองยามเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ครั้งหนึ่งเคยพาเด็กป่วยไข้เลือดออกและท้องเสียกะทันหันจากแม่ดึ๊ไปส่งโรงพยาบาลใน อ.แม่สะเรียง ออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปถึงประมาณ 4 ทุ่ม หากไม่อยากเดินทางไกลทางเดียว คือ ข้ามไปรักษาฝฝั่งพม่า หรือศูนย์อพยพ นั้นก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง เพราะฝั่งพม่ามองว่า เด็กชายแดนแม่สะเรียง คือ เด็กไทย ไม่ใช่คนป่วยในความรับผิดชอบของคนพม่า แม้ว่าบางเรื่อง เช่น การซื้อขายสินค้า พม่า กับไทยเป็นเหมือนพี่น้อง แต่การรักษาพยาบาล ซึ่งต้องใช้ยา ใช้อุปกรณ์ราคาแพง การนำเด็กนักเรียนไทยส่งตัวไปรักษา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เสียงสะท้อนจากคนแม่ดึ๊ ชัดเจนว่า พวกเขาแทบจะไม่อยู่ในระบบของรัฐบาลไทยด้วยซ้ำ แม้ว่ากระแสอาเซียนจะปั่นให้คนเมืองตื่นตัวในการพัฒนาการศึกษามากเพียงใดก็ตาม ทว่าภาพที่สวนทางกันชัดเจน คือ คุณภาพเด็กดอยยังไม่มีอะไรพัฒนาจากอดีตมากนัก แม้แต่สิทธิขั้นเด็กขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับยังถือว่าริบหรี่ และไกลจากมุมมองการพัฒนาของรัฐบาลไทยยิ่งนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น