xs
xsm
sm
md
lg

เมืองชาละวันแล้งจัด! ต้องขุดบ่อกลางน้ำยมดึงน้ำ ก่อนนาปรังรอบสองล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ชลประทานฯ-อบจ.ส่งแบ็กโฮช่วยชาวบ้านสามง่าม ขุดบ่อกลางน้ำยมสู้แล้งหวังรวมน้ำซึม-น้ำซับสูบเข้านาปรังรอบ 2 ก่อนต้นข้าวกว่า 1,500 ไร่จะแห้งตาย ขณะที่ชาวทับคล้อครวญแม้แต่น้ำใต้ดินยังแห้งจนขาดน้ำดิบผลิตน้ำประปาแล้ว

รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตรแจ้งว่า จนถึงขณะนี้หลายท้องที่ของ จ.พิจิตรยังคงประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงและต่อเนื่อง โดยที่บ้านหาดกรวด ต.สามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งชาวบ้านต้องปลูกข้าวก่อนเพื่อหนีน้ำท่วม แต่น้ำยมกลับแห้งขอด ส่วนน้ำใต้ดินก็สูบไม่ขึ้นทำให้นาปรังรอบสองที่มีต้นข้าวอายุ 40 วันขาดน้ำ ส่อเค้าจะแห้งตายรวมกว่า 1,500 ไร่

ล่าสุดนายประเวศน์ ศิริศิลป์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิจิตร และนายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร ได้นำรถแบ็กโฮไปขุดบ่อ ขุดคลองในแม่น้ำยมที่บ้านหาดกรวด โดยมีกลุ่มผู้ใช้น้ำออกค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดน้ำซึม น้ำซับและน้ำจากจุดอื่นๆ ไหลมารวมกัน จากนั้นก็จะใช้เครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำไปช่วยชาวนาที่ทำนาปรังบนพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่

ขณะเดียวกัน นางกัญญารินทร์ บุตรอุดม กำนันตำบลสามง่าม และกลุ่มชาวนาก็ได้เรียกร้องว่าตอนนี้การเขื่อนแก่งเสือเต้น คงไม่เกิดง่ายๆ เพราะมีกระแสคัดค้านมากมาย จึงไม่อยากจะเรียกร้องอีกต่อไปแล้ว แต่อยากขอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อเร่งสร้างประตูน้ำบ้านท่าแห ในแม่น้ำยมที่ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร รอยต่อกับบ้านวังอีทก ของ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ถ้ามีการสร้างประตูน้ำบ้านท่าแหได้สำเร็จก็จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมทั้งของชาวพิจิตรและชาวพิษณุโลกที่จะครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า 20,000 ไร่ เพราะเวลาถึงฤดูน้ำหลากก็สามารถผันน้ำจากแม่น้ำยมไปแม่น้ำน่าน พอถึงหน้าแล้งก็สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าแม่น้ำยม ผ่านคลอง DR2.8 ที่มีอยู่แล้วได้

ส่วนที่ อ.ทับคล้อ ซึ่งอยู่ติดที่ราบเชิงเขาของ จ.เพชรบูรณ์ ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน ขณะนี้พื้นที่ 4 ตำบล 56 หมู่บ้านก็กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก นายอำนวย พานทอง นายอำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร บอกว่าได้ประกาศภัยพิบัติที่ตำบลท้ายทุ่ง ทั้ง 12 หมู่บ้านแล้ว

นายสมบูรณ์ พวงพันธ์ นายก อบต.ท้ายทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งได้กล่าวถึงความเดือดร้อนว่า ในตำบลที่ตนปกครองอยู่มีระบบประปาหมู่บ้านเกือบครบทุกหลังคาเรือน โดยใช้น้ำบาดาลมาผลิตน้ำประปา แต่ปรากฏว่าชาวนาที่ทำนาปรังแย่งกันสูบน้ำบาดาล จนไม่มีน้ำดิบในการทำน้ำประปา ทางราชการและ อบต.ท้ายทุ่งจึงต้องเร่งแจกจ่ายน้ำกินน้ำใช้ให้ชาวบ้านที่มีกว่า 1 พันหลังคาเรือน

“เดือดร้อนแบบนี้มาทุกปี จึงอยากขอให้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ไว้กลางหมู่บ้าน เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำไว้ทำน้ำประปา ซึ่งขณะนี้มีผู้บริจาคที่ดินให้แล้วหลายสิบไร่ แต่ไม่มีงบประมาณขุดสระ”



กำลังโหลดความคิดเห็น