xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ต้าน กบอ. ชี้ผิด รธน. ยกแม่น้ำให้นายทุนเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในภาคเหนือ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ก่อนลงมติต่อต้าน กบอ.-แผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายภาคประชาชนเหนือ เดินหน้าต้าน กบอ.จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านต่อเนื่อง จวกผิด รธน. ลัดขั้นตอน EIA/EHIA แถมยกสัมปทานจัดการน้ำให้นายทุนต่างชาติเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ออกแบบจัดการน้ำ ยันเวนคืนที่ดิน

วันนี้ (21 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า หลังเครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่ กลุ่มรักบ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนบน จ.พะเยา เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนปลาย จ.เชียงราย คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่ และเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่ จ.พะเยา ในสุดสัปดาห์นี้แล้ว ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในนามภาคประชาชนภาคเหนือ เรื่อง “ยุติการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท”

โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ทำแผนแม่บทเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ โดยใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท และว่าจ้างบริษัทเอกชน โดยเฉพาะจากต่างประเทาออกแบบ และจัดการน้ำของคนไทยทั้งประเทศ ได้สร้างความเสียหายต่อชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของแม่น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เครือข่ายเห็นว่า แผนงานดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างผลกระทบอย่างมากต่อชาวบ้าน จึงขอเรียกร้องให้ยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน ในแผนโครงการงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การดำเนินโครงการของ กบอ.ผิดขั้นตอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มีความเร่งรีบ รวบรัดขั้นตอน ไม่ได้ทำตามกระบวนการของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบด้านสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ละเลยขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายใต้แผนงานตามข้อเสนอ และขอบเขตของงานบางโครงการขาดรายละเอียดของโครงการ และไม่มีกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่มีความชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยว เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ขณะที่เอกชนผู้รับจ้างจะเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบ รวมทั้งละเลยกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน ละเลยที่จะรับฟังเสียงของทุกฝ่ายถึงข้อกังวล ข้อห่วงใยตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

ภายใต้แผนงานนี้ บางโครงการไม่มีความจำเป็นและเร่งรีบ นอกจากนี้ ยังใช้งบประมาณที่สูง ไม่คุ้มทุน และมีความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณหลายหน่วยงานซึ่งมีแผนงานอยู่แล้ว และเห็นควรใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่แทน นอกจากนี้ ตามข้อเสนอและขอบเขตของงานที่ได้จ้างบริษัทจากต่างประเทศมาออกแบบก่อสร้าง ระบบบริหารการจัดการน้ำ และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย กบอ.ได้ปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน จากเดิมที่ให้หน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบ มาเป็นให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นฝ่ายจัดการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การออกแบบ ก่อสร้าง เวนคืนที่ดิน หาพื้นที่อพยพ ซึ่งจะกระทบต่อชุมชน และวิถีชีวิตอย่างรุนแรง ยากแก่การเยียวยา

เครือข่ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เครือข่ายจะทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการของภาครัฐ และจะดำเนินการตามมาตรการอื่น ตามมติของเครือข่ายต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น