“อรรถวิชช์” แจง ครม.เงา ปชป.ร้องรัฐเลิกงบพิดาร หลอก ปชช. ทำซักฟอกรวน ชี้ยุติโครงการเหลวง่ายกว่าสร้างภาพลวงตา ส่อทำหนี้สาธารณะพุ่ง 60% ตอกครอบงำ สบน.จัดตัวเลขตามสั่ง เชื่อติดเงื่อนไข พ.ร.ก.ทำกู้ไม่ทัน ดักรู้เห็น ธ.กรุงไทยคิดดอกเมื่อเบิก ผิด พ.ร.ก. พร้อมชงศาล รธน.ตีความ ซัดกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเสี่ยงชะงัก เหตุรัฐไม่ชัดเจน
วันนี้ (7 มี.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมว่า พรรคขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เลิกการจัดงบภาคพิสดาร หลังจากพิจารณาแผนของรัฐบาลที่มีการตั้งเป้าว่าจะจัดงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 และตั้งเป้าขาดดุลในปี 2557 จำนวน 2.5 แสนล้านบาท พบว่าเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เพราะงบลงทุนเกือบทั้งหมดจะไปอยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนระบบราง เท่ากับงบปกติจะมีเพียงงบเงินเดือน นอกนั้นจะไปอยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระบบการตรวจสอบงบประมาณรวนทั้งระบบ
นายอรรถวิชช์กล่าวด้วยว่า จากการพิจารณาการใช้จ่ายเงินลงทุนของรัฐบาลที่อ้างว่าจะไม่การกู้เงินในคราวเดียวกันแต่จะทยอยกู้นั้น ทำให้จะมีการใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะจัดสรรในงบประมาณปกติได้ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการงบประมาณภาคพิสดารด้วยการออก พ.ร.บ.และ พ.ร.ก. เพราะเงินจำนวนดังกล่าวสามารถจัดงบแบบขาดดุล และประหยัดงบประมาณจากโครงการอื่น เช่น โครงการรับจำนำข้าว หากยุติโครงการก็จะประหยัดเงินขาดทุนได้ปีละ 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนในโครงการที่จำเป็นได้ ซึ่งจะดีกว่าการจัดงบประมาณแบบภาพลวงตา พร้อมกันนี้ยังประเมินด้วยว่าหากมีการกู้เงินตามแผนรัฐบาลหนี้สาธารณะจะเกิน 50% อย่างแน่นอน โดยวิเคราะห์ว่าตัวเลขหนี้สาธารณะอาจแตะถึง 60% ไม่ใช่ไม่ถึง 50% ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง และเห็นว่าตัวเลขของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือสบน. ที่มีการนำเสนอถึงเหตุผลที่จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% นั้นอยู่บนสมมติฐานที่เป็นไปไม่ได้ คือ เศรษฐกิจไทยจะโตเฉลี่ย 7.5% ทุกปี และหลังปี 2556 การจำนำข้าวจะไม่ขาดทุน
“ครม.เงาเห็นว่า การอธิบายด้วยตัวเลขดังกล่าวเป็นเหมือนเป็นวิธีการของพ่อมดการเงินเพื่อหลอกลวงประชาชนว่าจะไม่เกิดความเสียหายจากการกู้เงินจำนวนมากนอกระบบงบประมาณ และเชื่อว่าการจัดตัวเลขของ สบน.นั้นเกิดจากนโยบายของฝ่ายการเมือง และอยากเตือนว่า ความไม่ชัดเจนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีการเปิดวงเงินไว้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายจริงเพียงแค่ 6 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันก็กำลังจะครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องกู้เงินภายในดือนมิถุนายนนี้ตามเงื่อนไขของพระราชกำหนดดังกล่าว จึงไม่เชื่อว่าจะมีการกู้เงินได้ทัน และถ้ามีการใช้รูปแบบลงนามร่วมกับธนาคารกรุงไทยเพื่อให้เปิดวงเงินเต็มจำนวนไว้ก่อน แต่จะคิดดอกเบี้ยเมื่อมีการเบิกจ่ายจริงนั้นจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. และพรรคฯ จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นนี้ด้วย”
นายอรรถวิชช์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลขาดความชัดเจนในการใช้เงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยในปัจจุบันมีการระบุว่าจะได้ตัวผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการราวเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งหากพิจารณาตามข้อมูลดังกล่าว อาจทำให้เกิดปัญหาการชะงักงันของโครงการได้ เพราะในระหว่างที่มีการเบิกจ่ายเงินตัวเลขหนี้สาธารณะอาจจะพุ่งสูงจนควบคุมไม่ได้ และกระทบต่อการดำเนินโครงการให้สะดุดได้ด้วยเช่นเดียวกัน