ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากน้ำมันแพง พร้อมองค์กรร่วมนำรายชื่อประชาชนกว่า 2,000 ราย ยื่นผ่านผู้ว่าฯ ถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านแผนขึ้นค่าแอลพีจี เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 6 ข้อ “หยุดขึ้นค่าแก๊ส-ชะลอเปิดสัมปทาน-หยุดผูกขาดพลังงาน-ผลประโยชน์ทับซ้อน”
วันนี้ (28 มี.ค.) ประชาชนจากเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากน้ำมันแพง เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จ.เชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อคัดค้านการขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
โดยหนังสือของทางเครือข่าย ระบุข้อเรียกร้องรวม 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน และรถยนต์ที่จะเริ่มในเดือน้มษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบในอัตราเดียวกับที่จัดเก็บจากภาคอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้หนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหมดลงอย่างรวดเร็ว
2.ขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางปีนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการแก้ไขส่วนแบ่งสัมปทานให้เป็นธรรมต่อประเทศ และห้ามมิให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อขยายอายุสัมปทานที่สิ้นสุดสัญญาแล้วโดยเด็ดขาด
3.ขอให้ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 5,400 เมกะวัตต์กลางปีนี้ และให้สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยชุมชน ด้วยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนผลิตโดยไม่จำกัดจำนวน
4.ยุติการผูกขาดธุรกิจก๊าซ และพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
5.หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัด และอธิบดีในกระทรวงพลังงาน
6.สนับสนุนให้มีการออกกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็ว
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังได้ยื่นรายชื่อประชาชนประมาณ 2,000 คน ซึ่งได้ร่วมลงรายชื่อคัดค้านการขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ถึงนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
นางนิตยา สุวรรณชิน ตัวแทนเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากน้ำมันแพงเชียงใหม่ กล่าวว่า การเข้ายื่นหนังสือ และรายชื่อครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของประชาชนในเครือข่ายธรรมภิบาลด้านพลังงาน ได้ทำการเดินรณรงค์ ปั่นจักรยาน และคาราวานต้านภาวะโลกร้อน เพื่อสุขภาพ ประหยัดพลังงาน และหยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนผูกริบบิ้นสีขาวเขียวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องในหลายพื้นที่มาจนถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเพื่อคัดค้านการปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาพลังงานของประเทศ เนื่องจากเห็นว่าเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม
นางนิตยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศประสบปัญหา เนื่องจากมีการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม โดยประเทศไทยมีแหล่งพลังงานธรรมชาติของตนเอง แต่ที่ผ่านมา กลับถูกกลุ่มธุรกิจพลังงานผูกขาดไว้ทั้งระบบ และผลักภาระให้ประชาชนต้องใช้พลังงานในราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรม และไม่มีทางเลือกอื่น โดยอ้างการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นผลมาจากการมุ่งประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มพลังงาน ดังนั้น เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน