อ่างทอง - ผลพวงภัยแล้งทำราคา “ฟางอัดก้อน” พุ่งจากก้อนละ 25-30 บาท ขยับขึ้นเป็น 30-35 บาท สร้างรายได้ให้แก่ชาวนาอ่างทองหลังเก็บเกี่ยวนำฟางข้าวในแปลงนามาอัดก้อนส่งจำหน่ายตามฟาร์มโคนม เผยขายดีมากจนทำไม่ทันตามที่ลูกค้าสั่งมา จนมีนายทุนออกมารับซื้อกักตุนเพื่อปั่นราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อ่างทอง ว่า วันนี้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ อ.โพธิ์ทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง และ อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี ได้มีการสร้างอาชีพแนวใหม่หลังการเก็บเกี่ยว โดยนำฟางข้าวในแปลงนาที่แต่เดิมนิยมเผาทำลายเพื่อทำการเพาะปลูกครั้งใหม่นำมาอัดก้อนแล้วส่งจำหน่ายตามฟาร์มโคนมต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงานปศุสัตว์ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างน่าพอใจ
ธุรกิจเกษตรดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดี และเป็นที่นิยมตั้งแต่วิกฤตปัญหาอุทกภัยปี 2554 ต่อเนื่องจนถึงปัญหาภัยแล้งปี 2555 และคาดว่าปี 2556 ยอดขายจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฟาร์มโคนม หน่วยงานปศุสัตว์มีความต้องการ และซื้อกักตุนไว้ในโกดัง โดยมองว่าแนวโน้มฤดูแล้งราคาฟางอัดก้อนจะเพิ่มสูงขึ้นจากปกติที่รับซื้อจากเกษตรกรก้อนละ 25-30 บาท ขณะนี้ปรับราคาเป็นก้อนละ 30-35 บาท หากรับซื้อตามโกดังนายทุนราคาก้อนละ 35-50 บาท หากฟางอัดก้อนขาดแคลนราคาจะสูงถึงก้อนละ 70-80 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาล ทั้งนี้ เนื่องจากฟางอัดก้อนในพื้นที่ภาคกลางมีคุณภาพสารอาหารสูงไม่มีความชื้น ไม่มีเชื้อรา ไม่มียาฆ่าแมลงมาก โคจึงชอบกิน จึงเป็นที่นิยมส่งผลทำให้มีนายทุนเข้ามาลงทุน และกว้านซื้อเพื่อหวังผลกำไร
นายวันชัย สัญญะวิริ อายุ 52 ปี เกษตรกรชาวนา ต.แสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ครอบครัวทำนา 40 ไร่เศษ แต่เดิมนิยมเผาตอซังข้าวเพื่อเร่งรีบทำนารอบใหม่ เมื่อประมาณปี 2554 มีนายทุนมาติดต่อให้ทำฟางอัดก้อนเพราะบริเวณนี้น้ำไม่ท่วม ปรากฏว่า ขายดีมากจนทำไม่ทันตามที่ลูกค้าสั่งมา จึงแนะนำเพื่อนบ้าน นับว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และไม่เผาทำลายสมดุลแปลงนา ลดภาวะโลกร้อน
“พื้นที่ภาคกลางเป็นแหล่งจำหน่ายใหญ่สุดเพราะรถลงแปลงนาได้ง่าย ไม่มีตอไม้ การขนส่งสะดวกซึ่งผิดกับภาคอีสาน นอกจากนี้ ฟางมีคุณภาพดีโคกินแล้วไม่ตายเพราะยาฆ่าแมลง เกษตรกรที่ทำเองโดยไม่พึ่งนายทุนจะส่งฟรีในระยะทาง 30-40 กิโลกรัม ราคาก้อนละ 35 บาท หากเกินกว่าระยะทางที่กำหนดจะคิดค่าระยะทาง ค่าสินค้า โดยไม่รวมค่าขนส่ง ซึ่งผู้ค้า และลูกค้าพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ธุรกิจเกษตรดังกล่าวลงทุนเพียงรถบดอัดก้อนฟางก็สามารถปลดหนี้ได้ เพราะตลาดยังมีความต้องการอีกมากเนื่องจากทุกวันนี้สภาพธรรมชาติแปรปวน วัว ควาย ต้องกินหญ้ากินฟาง” นายวันชัยกล่าว