ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ทสจ.เชียงใหม่แจงค่าฝุ่นละออง ดัชนีคุณภาพอากาศที่เชียงใหม่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน ชี้หมอกควันหนาเพราะสะสมทั้งเก่า-ใหม่โดนความกดอากาศกดไว้ในพื้นที่แอ่งกระทะ แถม Hospot ประเทศเพื่อนบ้านเยอะ รับเจอหลายจุดที่เชียงใหม่ แต่ประสานหน่วยงานดูแลยันควบคุมได้ ส่วนหมอกควันพบหนาทั้งเมือง ตัวเลขพุ่งเกินค่ามาตรฐานแล้ว
คลิกเพื่อชมคลิป:
วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่าของ จ.เชียงใหม่ ว่ายังคงมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง หลังจากที่หมอกควันจำนวนมากยังคงปกคลุมพื้นที่หลายจุด เช่น ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ที่หมอกควันค่อนข้างหนาแน่นจนสังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่นเดียวกับข้อมูลการเผาป่าที่ยังคงตรวจพบอย่างต่อเนื่อง
โดยในรายงานจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) พบการเกิดไฟป่าถึง 29 จุดใน 13 อำเภอ โดยอำเภอที่พบการเกิดเหตุเผาป่ามากที่สุด ได้แก่ อ.ดอยสะเก็ด และอ.สะเมิง อำเภอละ 6 ครั้ง พื้นที่เสียหายรวม 286.5 ไร่ แยกเป็นการเกิดเหตุในป่าอนุรักษ์ 20 ครั้ง เสียหาย 163 ไร่ พื้นที่ป่าสงวน 9 ครั้ง เสียหาย 123.5 ไร่ ซึ่งถือว่ามีจำนวนครั้งการเกิดสูงมาก
ขณะที่ตัวเลขข้อมูลคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดใน จ.เชียงใหม่ พบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ยังไม่สูงเกินค่ามาตรฐาน โดยรายงานของสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ วันนี้ (20 มี.ค.)แจ้งว่า ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ณ เวลา 09.00 น.วันที่ 20 มีนาคม พบว่า ที่สถานีตรวจวัดอากาศศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า PM10 อยู่ที่ 103 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และค่า AQI อยู่ที่ 89 ส่วนที่สถานีตรวจวัดอากาศโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีค่า PM10 อยู่ที่ 100 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. และค่า AQI อยู่ที่ 88 ทั้ง 2 แห่งคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง
นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปริมาณค่า PM10 ของเชียงใหม่ในวันนี้ยังไม่สูงเกินค่ามาตรฐาน โดยในภาคเหนือนั้นพื้นที่ที่มีค่า PM10 เกินมาตรฐาน ได้แก่ จ.น่าน จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีปริมาณสูงถึงประมาณ 200 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. ส่วนใจังหวัดอื่นยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
สำหรับสาเหตุที่หมอกควันปกคลุมหนาแน่นช่วงนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพอากาศที่มีความกดอากาศสูงปกคลุม และกดอากาศโดยเฉพาะหมอกควันไม่ให้ลอยขึ้นสูง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่แอ่งกระทะ ปริมาณจุดความร้อนหรือ Hotspot ที่พบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน และประเทศพม่า รวมถึงปริมาณหมอกควันสะสมในพื้นที่ และหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ใหม่ ทำให้หมอกควันยังคงปกคลุมหนาแน่นในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการเผาและดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานทุกหน่วยงานในการติดตามควบคุมสถานการณ์การเกิดไฟป่าในพื้นที่
นายกมลไชยกล่าวยอมรับว่า จากข้อมูลที่ได้พบว่ายังคงมีปริมาณ Hotspot ใน จ.เชียงใหม่ จำนวนมาก เช่นเมื่อวานนี้มี 138 จุด วันนี้ตรวจพบแล้ว 40 จุด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าระบบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อมีการตรวจพบจุด Hotspot หรือรายงานการพบเห็นไฟป่าจะมีการแจ้งต่อในระดับพื้นที่เพื่อดำเนินการควบคุมทันที ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแม้จะพบการเผา แต่ก็สามารถควบคุมไฟไว้ได้โดยตลอด
“หลังจากนี้เมื่อเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนฤดูในเดือนเมษายน คาดว่าจะมีฝนตกลงมา ซึ่งจะช่วยให้อากาศถ่ายเทดีขึ้น และช่วยทำให้หมอกควันที่มีอยู่กระจายตัวลดความหนาแน่นลง”
ทั้งนี้ ข้อมูลแบบ Real Time รายชั่วโมงในเว็บไซต์ www.aqmthai.com ของกรมควบคุมมลพิษ ล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น. พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของจ.เชียงใหม่ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีตรวจวัดอากาศศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า PM10 อยู่ที่ 124 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. และค่า AQI อยู่ที่ 102 ส่วนที่สถานีตรวจวัดอากาศโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีค่า PM10 อยู่ที่ 130 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. และค่า AQI อยู่ที่ 104 ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวทำให้ในขณะนี้คุณภาพอากาศของเชียงใหม่เปลี่ยนจากระดับปานกลาง เข้าสู่ระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีแนวโน้มว่าปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กและดัชนีคุณภาพอากาศใน จ.เชียงใหม่จะยังคงอยู่ในระดับสูง และมีหมอกควันปกคลุมหนาแน่นไปตลอดสัปดาห์นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดหมายสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจะมีฝนตกระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของหมอกควันลงได้ แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดฝนตก ขณะที่ปริมาณหมอกควันเริ่มหนาแน่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กและดัชนีคุณภาพอากาศจะไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม