xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่หมอกควันหนัก ทั้ง PM10-AQI พุ่งเกินมาตรฐาน กระทบสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คุณภาพอากาศภาคเหนือสุดสัปดาห์ยังแย่ หลังค่าฝุ่นละออง-ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพเกือบทุกที่ เหลือแค่น่านกับตากที่ยังอยู่ระดับปานกลาง ส่วนเชียงใหม่ตัวเลข PM10 และ AQI เพิ่มจนเข้าระดับกระทบต่อสุขภาพแล้ว

ดัชนีคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่สูงเกินค่ามาตรฐานแล้วในวันนี้ (16 มี.ค.) หลังจากที่มีหมอกควันปกคลุมหนาแน่นหลายพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือที่เพิ่มสูงขึ้นมาตลอดสัปดาห์

โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ วันที่ 16 มี.ค. ของสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ จากเว็บไซต์ http://aqnis.pcd.go.th/node/6552 ระบุว่า พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 72-198 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมมลพิษขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการลดและควบคุมการเผาในที่โล่งอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการควบคุมการเผาริมทาง การเผาในพื้นที่ป่า และใกล้เขตป่า รวมถึงขอความร่วมมือจากประชาชนงดเผาขยะ เศษวัสดุการเกษตรและกิ่งไม้ใบหญ้า เป็นต้น เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนด้วย

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษยังได้ออกข้อแนะนำด้านสุขภาพ โดยแนะนำให้เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากาก หรือใช้ผ้าปิดจมูก ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามข้อแนะนำจากภาคราชการ หากเกิดอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้นพบว่า ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ณ เวลา 09.00 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่สถานีตรวจวัดอากาศศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า PM10 อยู่ที่ 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 95 ส่วนที่สถานีตรวจวัดอากาศโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีค่า PM10 อยู่ที่ 116 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 98 ทั้ง 2 แห่งคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พบว่า ส่วนใหญ่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีค่า PM10 และ AQI l สูงเกินมาตรฐาน เช่น ที่จังหวัดเชียงราย ที่สถานีตรวจวัดอากาศสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีค่า PM10 อยู่ที่ 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 103 ที่สถานีตรวจวัดอากาศสำนักงานสาธารณสุขแม่สาย อ.แม่สาย มีค่า PM10 อยู่ที่ 121 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 101 จังหวัดลำพูน ที่สถานีตรวจวัดอากาศสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน อ.เมือง มีค่า PM10 อยู่ที่ 139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 109

ขณะที่จังหวัดลำปาง ที่สถานีตรวจวัดอากาศสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง มีค่า PM10 อยู่ที่ 169ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 122 ส่วนที่สถานีตรวจวัดอากาศโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านสบป้าด อ.แม่เมาะ มีค่า PM10 อยู่ที่ 132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 106 และสถานีตรวจวัดอากาศโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านท่าสี อ.แม่เมาะ มีค่า PM10 อยู่ที่ 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 112

ด้านจังหวัดแพร่ ที่สถานีตรวจวัดอากาศสถานีอุตุนิยมวิทยาแพร่ มีค่า PM10 อยู่ที่ 168 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 121 จังหวัดพะเยา ที่สถานีตรวจวัดอากาศอุทยานการเรียนรู้กว๊านพะเยา มีค่า PM10 อยู่ที่ 139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 109 และที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่สถานีตรวจวัดอากาศสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีค่า PM10 อยู่ที่ 198 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 134

ล่าสุด จากการตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือข้อมูลแบบ Real Time รายชั่วโมงในเว็บไซต์ www.aqmthai.com ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีตรวจวัดอากาศศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า PM10 อยู่ที่ 110 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 101 ส่วนที่สถานีตรวจวัดอากาศโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีค่า PM10 อยู่ที่ 138 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 108 ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวทำให้ในขณะนี้ คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่เปลี่ยนจากระดับปานกลางเข้าสู่ระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น