พะเยา - รัฐมนตรีแรงงานลงพื้นที่ติดตามผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ยันกระทบไม่หนัก เลิกจ้างเพียง 8 รายเท่านั้น ปธ.สภาอุตสาหกรรมสวนทันควัน บอกนายจ้างอ่วมทั้งบาง
วันนี้ (8 มี.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแรงงานสัญจร เสริมสร้างองค์ความรู้ให้สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และบรรยายพิเศษเรื่องนโยบาย 300 บาทต่อวันของรัฐบาล ที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา ว่าค่าแรงเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิต ซึ่งในพะเยาถือเป็นจังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างมากที่สุดใน 2 ระยะ คือ จาก 159 บาทเป็น 222 บาท ในปี 2555 และ 300 บาท ในปี 2556
ส่วนกรณีการเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบ 300 บาทในพะเยา มีเพียง 8 รายในสถานประกอบการ 5 แห่งเท่านั้น เบื้องต้นจึงประเมินได้ว่าผลกระทบมีไม่มากนัก ส่วนข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาตั้งกองทุนช่วยเหลือนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่ทราบผลกระทบที่ชัดเจน จึงอยากให้แจ้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง และการจ้างแรงงานต่างด้าว ก็สามารถยื่นขอโควตาได้ที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่ จ.เชียงราย
สำหรับ จ.พะเยา มีสถานประกอบการ 1,238 แห่ง เป็นขนาดเล็ก 1,217 แห่ง ขนาดกลาง 17 แห่ง และขนาดใหญ่ 4 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ก่อสร้าง สถาบันการเงิน ลูกจ้างรวม 9,009 คน เลิกจ้าง 41 ราย จากสถานประกอบการ 22 แห่ง
นายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การปรับค่าจ้าง 300 บาทส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ต้องมีการปรับค่าจ้างทั้งระบบ เพราะต้องขยับให้กับแรงงานที่อยู่มานานด้วย ขณะที่มาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือนั้นเป็นนโยบายที่จับต้องไม่ได้ จึงอยากเรียกร้องให้จัดสรรงบประมาณมาตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยตรง เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ขณะเดียวกัน อยากให้จัดงานให้ได้ระบายสินค้า และเร่งสร้างงานด้วยโครงการถนนสายเศรษฐกิจ พร้อมกับขยายเขตพื้นที่ชายแดนมายัง จ.พะเยา เพื่อให้สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวได้มากขึ้น แม้จะต้องจ่ายค่าจ้างอัตราเท่ากัน แต่ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดทิศทางการผลิตได้แน่นอนกว่าแรงงานไทยที่มีวันหยุดตามเทศกาลมาก