xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ภาค 3 จัดประกวดชุดควบคุมฝูงชน 8 จว.อีสานใต้ - เตรียมรับมือม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. เป็นประธานเปิดการประกวดการควบคุมสั่งการทางยุทธวิธีในสถานการณ์การควบคุมฝูงชนของตำรวจภูธรภาค 3 ที่โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 3 ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 7 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ตร.ภาค 3 จัดประกวดชุดควบคุมฝูงชนระดับภาค ตำรวจ 8 จว.อีสานใต้ส่งกองร้อยควบคุมฝูงชนเข้าร่วมกว่า 600 นาย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการชุมนุมให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักสากล ด้าน ตร.ชัยภูมิโชว์ “ปืนแห” ยิงตาข่ายจับกลุ่มผู้ชุมนุม

เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (7 มี.ค.) ที่บริเวณสนามฝึกโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 3 ต.จอหอ อ.เมืองจ.นครราชสีมา พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ฝ่ายความมั่นคง) เป็นประธานในพิธี เปิด “การประกวดการควบคุมสั่งการทางยุทธวิธีในสถานการณ์การควบคุมฝูงชนของตำรวจภูธรภาค 3” โดยกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 8 จังหวัดอีสานล่าง ได้ส่งชุดควบคุมฝูงชนเข้าร่วมการประกวด 8 กองร้อย รวม 620 นาย จัดการประกวดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 7-8 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมสั่งการของระดับผู้บังคับการ รองผู้บังคับการ ผู้บังคับการกองพัน กองร้อยควบคุมฝูงชนมีประสิทธิภาพ ตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งหลังได้ทีมชนะระดับภาคแล้วจะเข้าไปประกวดระดับประเทศต่อไป

พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย จึงมีความจำเป็นต้องจัดให้มีระบบบริหารเหตุการณ์และกองร้อยควบคุมฝูงชนที่มีมาตรฐานทั้งทางด้านยุทโธปกรณ์ ประสิทธิภาพของบุคลากร และมียุทธวิธีในการปฏิบัติเพื่อควบคุมการชุมนุม ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามหลักสากล ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์การชุมนุมมีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้การบริหารและสั่งการของผู้บัญชาการเหตุการณ์กับกองร้อยควบคุมฝูงชนยังไม่บรรลุเป้าหมายของผู้ปฏิบัติจึงจัดให้มีการประกวดการควบคุมฝูงชนขึ้นดังกล่าว

พล.ต.อ.วรพงษ์กล่าวต่อว่า ยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนนั้นเป็นของใหม่ และเป็นเรื่องที่กระทบกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่ง สตช.พยายามฝึกให้ตำรวจได้เข้าใจและปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความถูกต้องอย่างมีมนุษยธรรมสิ่งเหล่านี้ที่ได้เน้นให้ทำการฝึกอยู่บ่อยๆ และการจัดประกวดครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเตรียมรับมือม็อบใดโดยเฉพาะ เพราะโดยข้อเท็จจริงการใช้สิทธิของประชาชนมีกระจายอยู่ทุกวัน ทุกจังหวัดซึ่งตนอยู่ในส่วนกลางก็ได้รับรายงานทุกวัน วันละ 4-5เหตุการณ์ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัดที่ต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ล่าสุด สตช.ได้นำยุทธวิธีที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ(UN) มาใช้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นยุทธวิธีที่ดีและถูกต้อง เปลี่ยนไปจากหลักคิดเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดประกวดดังกล่าวเปิดโอกาสให้ชุดควบคุมฝูงชนของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแต่ละแห่ง ส่งชุดควบคุมฝูงชนที่ผ่านมาฝึกเข้ามาประกวดด้วยการจำลองเหตุการณ์ การชุมนุมของกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ให้สมจริง และทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายใน 45 นาที ซึ่งชุดควบคุมฝูงชนชุดแรกที่เข้าทำการประกวด คือ ชุดควบคุมฝูงชนฯ จากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้นำอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งโล่ กระบอง รถดับเพลิง แก๊สน้ำตา มาใช้ในการควบคุมฝูงชนที่มาชุมนุมประท้วงเรื่องที่ดินทำกิน

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ได้รับความสนใจและแตกต่างจากชุดควบคุมฝูงชนอื่นๆ คือ “ปืนแห” ซึ่งดัดแปลงจากภูมิปัญญาชาวอีสานที่ใช้แหในการจับปลามาเป็นปืนแหยิงตาข่ายเข้าคลุมกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อจับกุมตัว แต่การยิงปืนแหในการประกวดครั้งนี้ ไม่สามารถจับตัวผู้ชุมนุมได้แม้แต่คนเดียวเพราะส่วนใหญ่วิ่งหลบหนีไปได้ทัน แต่สร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมชมการประกวดครั้งนี้เป็นอย่างมาก







กำลังโหลดความคิดเห็น