xs
xsm
sm
md
lg

มติ กมธ.ตร.สภา เอกฉันท์! ชง สตช.เลิกสัญญาสร้าง 396 โรงพัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร (แฟ้มภาพ)
กมธ.ตำรวจ สภาฯ ถกความคืบหน้าก่อสร้าง สภ.396 แห่ง หลังสุดอืด ก่อนมีมติเอกฉันท์ 12 เสียง ให้ สตช.เลิกสัญญา รอง ผบ.ตร.รับลำบากใจ แต่สั่งลูกน้องรวมข้อมูลพร้อมแล้ว ลั่นฟ้องร้องแน่ แต่ขอพิจารณาก่อน

วันนี้ (30 ม.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณากรณีการติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ จำนวน 396 แห่ง ซึ่งมีการว่าจ้างตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และมีการต่อระยะเวลาการก่อสร้างมาแล้ว 2 ครั้ง และจะหมดสัญญาครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะการก่อสร้างกลับล่าช้า โดยส่วนใหญ่ดำเนินงานได้เพียง 1-2 งวด จากการก่อสร้างทั้งหมด 13 งวด หรือคิดเป็น 20% จากการก่อสร้างทั้งหมดทั่วประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ภายกลางการหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง กมธ.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 12 เสียง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกเลิกสัญญาการก่อสร้างกับบริษัท พีซีซี ดีเวลลอปเมนท์ แอนด์ คอนสตรักชั่น จำกัด ทั้งหมด โดยจะทำหนังสือให้ สตช.ไปดำเนินการต่อ ส่วนจะยกเลิกสัญญาทันทีหรือจะรอให้สัญญาหมดลงไปก่อน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ สตช.เอง

ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมในถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกสัญญา พร้อมกันนี้ยังต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับคู่สัญญา เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายและจ่ายเงินเยียวยาที่เกิดขึ้น

ขณะที่ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร.เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าว ยอมรับว่ามีความลำบากใจ เพราะเมื่อเป้าหมายคือการก่อสร้างที่ทำงานใหม่ให้ได้ก็ต้องพิจารณาว่าระหว่างการยกเลิกสัญญาทั้งหมด กับการอดทนรอการก่อสร้างให้แล้วเสร็จจึงจะรวดเร็วกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้สถานีตำรวจทุกแห่งไปรวบรวมข้อมูล แบบอาคาร เพื่อเตรียมความพร้อมหากจะมีการยกเลิกสัญญาเก่า และแบ่งสัญญาการก่อสร้างให้ไปขึ้นกับตำรวจภูธรแต่ละจังหวัด หรือแต่ละกองบัญชาการภาคแล้ว ทั้งนี้การฟ้องร้องหลังยกเลิกสัญญาจะมีอย่างแน่นอน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรยังไม่ได้มีการหารือกัน เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรอให้หมดสัญญาก่อนแล้วค่อยดำเนินคดี หรือจะดำเนินคดีได้เลยทันที เพื่อความได้เปรียบในทางกฎหมายกว่ากัน เพราะที่ผ่านมาตนได้หารือกับหลายฝ่าย ทั้งตุลาการ อัยการ แต่ได้ข้อมูลที่แตกต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น