xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงกระทบนโยบายการเงินไทย ชี้มีสัญญาณแต่ยังไม่น่าวิตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ประสาน ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “ประสาร” ชี้นโยบายการเงินไทยต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง “เศรษฐกิจโลก-หนี้ครัวเรือนเพิ่ม-ทุนไหลเข้า” แจงแบงก์ชาติจับตาดูทุกเรื่อง ระบุห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนหลังหนี้บ้าน-รถ-หนี้ส่วนบุคคลเพิ่มเร็ว ส่วนเงินไหลเข้าชี้เป็นเพราะ ศก.ไทยเข้มแข็งดึงดูดนักลงทุน ยันสถานการณ์ยังไม่อันตรายแต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบป้องกันเกิดปัญหาในอนาคต

วันนี้ (1 มี.ค. 2556) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางนโยบายการเงินของประเทศไทย ปี 2556 ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์และปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสการเปิดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “โอกาสเศรษฐกิจไทย : พัฒนาแนวรับ ปรับแนวรุก บุกเอเชีย” ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จับตาดูปัจจัยเสี่ยง 3 ประการที่คาดว่าจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความแน่นอน การเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชน โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น และเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนั้นจะมีการพิจารณาประกอบกันเพื่อใช้ในการตัดสินใจกำหนดนโยบายทางการเงิน

ดร.ประสานกล่าวว่า ในส่วนของสินเชื่อภาคเอกชนที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น มีการติดตาข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าสินเชื่อในส่วนของรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐและสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ได้มีการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่างๆ ให้ระมัดระวังในการชักจูงประชาชนให้ขอสินเชื่อแล้ว ขณะเดียวกันยังได้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยต่ำเกินไป ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนสร้างหนี้สินมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ติดตามการเติบโตของหนี้สินที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยกำลังพิจารณาว่าการเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากความต้องการจริงในท้องตลาด กำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น หรือเกิดขึ้นจากการลงทุนเก็งกำไร

ทั้งนี้ ยังไม่พบว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สินในกลุ่มดังกล่าวเป็นไปในลักษณะของการซื้อสินทรัพย์เพื่อนำไปขอสินเชื่อ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศประสบปัญหาในอดีตมาแล้ว นอกจากนี้ยังได้จับตาดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้นร่วมกับ ก.ล.ต.อีกด้วย

ส่วนการไหลข้าวของเงินทุนจากต่างประเทศนั้น ดร.ประสานกล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของหลายๆ ประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก ทำให้นักลงทุนจากดต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำกำไร โดยในส่วนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จับตาดูและพยายามรักษาสมดุลให้เหมาะสม ซึ่งการเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยในเรื่องดังกล่าว

ดร.ประสานกล่าวต่อไปว่า การดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ทั้ง 3 ปัจจัยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดมาตรการเท่าที่จำเป็น และจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดมากว่าที่จะเข้าไปแทรกแซง ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาในแต่ละปัจจัยร่วมกับสถาบันหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากในบางปัจจัยเครื่องมือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอยู่สามารถใช้ในการควบคุมดูแลหรือรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ในบางกรณีสถาบันหรือหน่วยงานอื่นๆ จะมีเครื่องมือหรือกฎเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า การจับตาดูปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ไม่ได้หมายความว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบปัญหา หรือมีสิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ หากแต่ถือว่าปรากฏการณ์เกิดขึ้นในหลายจุด ซึ่งจำเป็นที่จะต้องจับตาและเฝ้าระวังอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น