xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายอนุรักษ์-ผู้ประกอบการปางช้างหนุน WWF ต้านค้างาช้างในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - WWF ประเทศไทยจัดประชุมเครือข่ายอนุรักษ์ช้าง-ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวปางช้างที่เชียงใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์หนุนห้ามขายงาช้างในประเทศพร้อมปฏิรูปกฎหมายอนุรักษ์ช้าง ชี้กฎหมายปัจจุบันมีหลายฉบับ-หลายหน่วยงานรับผิดชอบส่งผลทำงานซ้ำซ้อน พร้อมระบุหากไม่เร่งแก้ไขระยะยาวกระทบทั้งการท่องเที่ยว-การค้าที่เกี่ยวข้องด้วย

วันนี้ (25 ก.พ. 56) WWF ประเทศไทย ได้จัดการประชุมเครือข่ายรักษ์ช้าง “ร่วมหยุดการค้างา หยุดฆ่าช้าง” ขึ้น โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกลุ่มที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ช้าง และกลุ่มผู้ประกอบการปางช้างต่างๆ เข้าร่วม ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่

การประชุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ช้างและธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับช้างได้ร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้างาช้างในประเทศไทย โดยภายหลังการประชุมเครือข่ายอนุรักษ์ช้างและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย ปางช้างแม่สา, ปางช้างแม่ตะมาน, ปางช้างแม่แตง, Elephant Nature Park, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, มูลนิธิเพื่อนช้าง, ศูนย์อนุรักษ์ช้างจังหวัดลำปาง, บ้านควาญช้างเกาะช้าง จังหวัดตราด และ WWF ประเทศไทย ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อเรียกร้องของ WWF ที่เรียกร้องให้มีการประกาศปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศไทย จนกว่าจะมีการปฏิรูปกฎหมายอนุรักษ์ช้างและจัดระเบียบเพื่อควบคุมช้างเลี้ยงอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ

น.ส.จันทร์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า WWF ประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ต่อต้านการค้างาช้างของ WWF ซึ่งจัดให้หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับช้าง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการอนุรักษ์ หรือธุรกิจการท่องเที่ยวได้มาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งแสดงออกถึงการสนับสนุนแนวทางการคัดค้านการค้างาช้างในประเทศ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ต่างมีความผูกพันกับช้างและไม่สนับสนุนแนวทางการค้าช้างเพื่อนำงามาใช้ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างซึ่งมีจำหน่ายในประเทศในปัจจุบันนั้นก็ไม่ได้มาจากช้างที่อยู่ตามปางช้างต่างๆ แต่อย่างใด แต่เป็นงาช้างที่มีการลักลอบนำเข้ามา

น.ส.จันทร์ปายกล่าวต่อไปว่า หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับช้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับช้างพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจสอบและดูแลช้าง ไม่ว่าจะเป็นช้างบ้านหรือช้างป่า รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเองก็ต้องการเห็นความจริงจังของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย เนื่องจากสิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่า และช้างบ้าน คือ การที่มีหน่วยงานหลายหน่วยเข้ามาเกี่ยวข้องและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับช้าง โดยในปัจจุบันการดำเนินการในด้านกฎหมายเกี่ยวกับช้างมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งจากดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่งผลให้การทำงานในเรื่องช้างประสบปัญหาซ้ำซ้อนหรือล่าช้า และตลอดเวลาที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการรวมกฎหมายหรือความรับผิดชอบเรื่องช้างมาให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ

น.ส.จันทร์ปายระบุว่า การเสนอให้มีการรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช้างเป็นฉบับเดียวกัน และมอบหมายความรับผิดชอบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งนั้นจะช่วยให้การทำงานเกี่ยวกับช้างมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับช้างในประเทศก็จะถูกรวบรวมไว้ในที่เดียวไม่กระจัดกระจายเหมือนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังเป็นแนวคิดที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอต่อภาครัฐ ซึ่งคงจะต้องติดตามความคืบหน้าและผลักดันกันต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็อยากเห็นความชัดเจนของรัฐบาล โดยเฉพาะในระดับบริหารที่จะตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ น.ส.จันทร์ปายยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้นั้น ทำให้ไทยถูกจับตามองจากประเทศสมาชิกไซเตสว่าจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาการค้างาช้างอย่างไร หากประเทศไทยยังไม่แสดงออกถึงความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของการจัดระเบียบช้างในประเทศ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการต่อต้านการค้างาช้างแล้ว ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของปนระเทศ รวมถึงธุรกิจการค้าที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตส เช่นการค้ากล้วยไม้หรือจระเข้ ซึ่งในอนาคตหากมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรก็จะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อธุรกิจเหล่านี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น