xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมประมงตรวจโรงเพาะฟักกุ้งทะเลระยอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยอง - อธิบดีกรมประมงลงพื้นที่ระยอง ตรวจโรงเพาะฟักกุ้งทะเล หวังเป็นโรงเพาะที่ได้มาตรฐาน และไม่เกิดปัญหาหากนำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพ

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่ฟาร์มโรงเพาะฟักกุ้งทะเลบริษัทโกลบอล เจน (ไทยแลนด์) จำกัด ถนนหาดแสงจันทร์-แหลมเจริญ ต.ปากน้ำ อ.เมืองระยอง ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง พร้อมคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงเพาะฟักกุ้งทะเลตามโครงการ “รวมพลัง ยับยั้ง EMS” ซึ่งเป็นความร่วมมือของเกษตรกร และผู้ประกอบการโรงเพาะฟักกุ้งทะเลที่แสดงความประสงค์ร่วมกันในการปรับปรุงสุขอนามัยฟาร์ม อันจะทำให้กระบวนการผลิตกุ้งทะเลต้นน้ำ (โรงผลิตนอเพลียส) มีคุณภาพ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดโรคกุ้งตายด่วนในรอบการผลิตใหม่

ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้หาแนวทางแก้ปัญหากลุ่มอาการโรคตายด่วน (ems) ในกุ้งทะเล โดยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ จัดทำมาตรฐาน ปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักกุ้งทะเลต้นน้ำ แหล่งผลิตลูกกุ้งแรกฟัก โดยการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรงเพาะฟัก ทั้งในระบบอากาศ ระบบน้ำ บ่อพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ และอุปกรณ์เครื่องมือ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน

สำหรับโรคกุ้งตายด่วน (ems) ได้แพร่ระบาดในภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยมาตรการปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักลูกกุ้งแรกฟัก ป้อนโรงอนุบาลลูกกุ้งทะเลทั่วประเทศ โดยหากแหล่งกำเนิดดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นตามแผนปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรคตายด่วน จะช่วยชะลอการระบาดของโรคลงได้ ทั้งนี้ มาตรการปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักได้ดำเนินการทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2556 จะแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 ภาคตะวันออกในพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง และตราด

โซนที่ 2 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในพื้นที่ จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช และสงขลา โซนที่ 3 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต) และโซนที่ 4 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.พังงา โดยแต่ละฟาร์มใช้เวลาทำความสะอาด และตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ ไม่เกิน 20 วัน และมาตรการดังกล่าวจะเป็นการตรวจสอบสาเหตุโรค และลดปัญหาการเกิดโรคกุ้งตายด่วน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคได้

ดร.วิมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มของ จ.ระยอง ครั้งนี้ เป็นฟาร์มในเครือบริษัทโกลบอล เจน (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นฟาร์มขนาดกลาง สามารถผลิตนอเพลียสได้ประมาณ 10 ล้านตัวต่อวัน และได้เข้าร่วมโครงการรวมพลัง ยับยั้ง EMS ซึ่งผ่านการตรวจสุขอนามัยฟาร์มเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการประกาศชื่อขึ้นเว็บไซด์ของกรมประมง

ในปัจจุบัน มีโรงเพาะฟักกุ้งทะเลที่ผ่านการตรวจประเมินแล้ว 3 โรง ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ฟาร์มลูกกุ้งสิชล จ.นครศรีธรรมราช บริษัท ชุติกาญจน์ (ไทยแลนด์) แฮทเชอรี จ.พังงา และ NC ระยอง ส่วนโรงเพาะฟักอื่นอยู่ในระหว่างตรวจประเมินฟาร์ม และรอผลตรวจโรคพ่อแม่พันธุ์
โรงเพาะฟักกุ้งทะเลตามโครงการ “รวมพลัง ยับยั้ง EMS” ซึ่งเป็นความร่วมมือของเกษตรกรและผู้ประกอบการโรงเพาะฟักกุ้งทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น