xs
xsm
sm
md
lg

ค้านมติ ครม.ทำพุทธมณฑลแทนที่คุกเชียงใหม่-ปชช.ร้องมีส่วนร่วมหากดื้อฟ้องศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คนเชียงใหม่อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับมติ ครม.ตั้งพุทธมณฑลแทนที่คุกหญิงที่ย้ายออกจากพื้นที่กลางเวียง เผยเป็นที่พื้นที่สำคัญเกี่ยวพันกับคุ้มหลวงเจ้าเชียงใหม่แต่โบราณ อยากให้มีการขุดค้นพิสูจน์ก่อนแล้วจึงปรับให้เป็นพื้นที่เปิดเพื่อประโยชน์หลากหลาย

เมื่อเย็นวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมสภาพลเมืองครั้งที่ 2 จัดโดยคณะผู้ผลักดันเชียงใหม่จัดการตนเองในวาระพิจารณา “ข่วงหลวง-เวียงแก้ว?” ซึ่งเป็นประเด็นที่คนเชียงใหม่ให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่คุกหรือทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่เพิ่งย้ายออกไปตั้งติดกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ซึ่งปรับปรุงมาจากศาลากลางหลังเก่า โดยก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเมื่อ 15 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมาอนุมัติงบประมาณ 150 ล้านบาทปรับปรุงเป็นพุทธสถานฉลองปีพุทธชยันตี

การย้ายคุกออกจากเมืองเป็นวาระที่คนเชียงใหม่ผลักดันมาต่อเนื่องหลายยุคสมัย นับแต่ครั้ง ศ.ไกรศรีนิมมานเหมินท์ และคณะศึกษาล้านนาคดี ได้ผลักดันให้ย้ายศูนย์ราชการออกจากพื้นที่กลางเวียง อันเป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าหลวงเก่าในช่วงประมาณปี 2510 จากนั้นนักอนุรักษ์และนักวิชาการท้องถิ่นก็ผลักดันต่อมาเป็นระยะมีการประชุมหารือกันหลายครั้ง และมีข้อเสนอเบื้องต้นอย่างน้อย 5 แนวทาง แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการย้ายคุกออกไปจริงก็มีการเร่งรัดทำโครงการพุทธมณฑล ซึ่งไม่เคยอยู่ในแนวทางข้อเสนอดั้งเดิม

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกรณีที่รัฐได้เปิดทางให้กลุ่มคนเสื้อแดง รักเชียงใหม่ 51 ภายใต้การนำของนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล เข้าไปจัดการนำชมคุกหญิงตลอดถึงกิจกรรมเกี่ยวข้องประหนึ่งเป็นเจ้าของโครงการย้ายคุกสร้างพุทธมณฑลเสียเอง

นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกลุ่มบ้านชุ่มเมืองเย็นในฐานะผู้เสนอเปิดสภาพลเมืองในวาระดังกล่าวได้แสดงความเห็นว่า ต้องการให้มีพื้นที่ถกเถียงหารืออย่างหลากหลาย เพราะการย้ายคุกออกไปเป็นเรื่องใหญ่ใกล้ตัวของชาวเชียงใหม่

ต่อจากนั้นได้มีการนำเสนอข้อมูลการศึกษาจากคณะทำงานทั้งเรื่องแนวคิดทางประวัติศาสตร์โบราณคดีตลอดถึงความเป็นมา สรุปได้ว่าการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนหน้าในช่วง พ.ศ. 2551 สามารถจำแนกความเห็นออกเป็น 5 กลุ่มความคิด คือ

กลุ่มแรก - ให้รื้อคุกออกเพื่อสร้างเป็นข่วงหลวง (ลานโล่งกว้างอเนกประสงค์), กลุ่มสอง - เน้นไปทางพิพิธภัณฑ์นิยม ควรหารายได้จากพื้นที่คุกสามารถทำเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรายได้ให้ความรู้แก่เยาวชนให้เกรงกลัวการทำชั่ว

กลุ่มสาม - มองในแง่การใช้ประโยชน์ เช่น ให้รื้อคุกและเปิดที่มาเป็นที่ทำการขององค์กรต่างๆ กลุ่มสี่ - ทำสวนสาธารณะรองรับกิจกรรมนันทนาการ ศิลปวัฒนธรรม และห้า - ยึดหลักเศรษฐกิจนิยมให้ทำศูนย์การค้า จัดถนนคนเดินหรือในทำนองเดียวกับสวนจตุจักร

ที่ประชุมสภาพลเมืองได้แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างหลากหลาย มีผู้เสนอแนวความคิดอื่นเพิ่มเติมที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น มีการร่ำเรียนกันมาว่าพญาเม็งรายเลือกทำเลสร้างเมืองเชียงใหม่ทับพื้นที่เมืองเก่าของชาวลัวะแต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ มายืนยันข้อมูลที่เผยแพร่ดังกล่าว ก็น่าเป็นโอกาสดีที่ได้ขุดค้นเสียก่อน บ้างก็ย้อนนำเสนอแนวคิดว่าสยามได้เข้ามาครอบงำล้านนาโดยสร้างสิ่งอัปมงคลทับพื้นที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้สนใจประวัติศาสตร์อีกสายหนึ่งมองแย้งว่า เป็นเรื่องปกติของการปกครองในยุคนั้นที่ต้องมีที่ทำการปกครอง มีสถานีตำรวจ มีศาลและคุกอยู่ในบริเวณเดียวกัน

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีการนำเสนอแนวคิดใหม่ที่ขัดแย้งกับข้อมูลที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้าเช่น การกล่าวว่าที่ดังกล่าวเป็นเป็นคุ้มของพญาเม็งรายกษัตริย์ผู้สร้างนครเชียงใหม่เมื่อ 700 กว่าปีก่อนเพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน ขณะที่จารึกวัดเชียงหมั้นระบุเพียงว่า พญาเม็งรายประทับบริเวณวัดเชียงหมั้นในขณะที่ก่อสร้างเมืองเชียงใหม่

ขณะเดียวกัน ยังมีการเสนอแนวคิดใหม่โดยนายวรชาติ มีชูบทว่า คุกดังกล่าวไม่น่าจะสร้างเมื่อ พ.ศ. 2442 อย่างที่เผยแพร่กันก่อนหน้าแต่น่าจะสร้างพร้อมๆ กับศาลาว่าการมณฑลพายัพ (ศาลากลางเก่า) ที่เปิดทำการเมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2462

นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเดินทางไปร่วมฟังความเห็นด้วยกล่าวกับผู้เข้าร่วมว่า ขั้นตอนการดำเนินการของจังหวัดจะไม่รวบรัดตัดตอน แต่จะเปิดรับฟังความเห็นที่หลากหลายโดยจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมต่อพื้นที่คุกเดิมต่อไป โดยขั้นตอนหลังจากกรมราชทัณฑ์คืนพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์แล้ว ทางสำนักงานจังหวัดจะยื่นขอเข้าดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวต่อ

สำหรับข้อคำถามว่าในเมื่อเป็นมติครม.อนุมัติงบประมาณมาแล้วจะคัดค้านยับยั้งได้อย่างไร นายอดิศรกล่าวกับที่ประชุมว่า จนบัดนี้ยังไม่มีเงินโอนมาที่จังหวัดแต่อย่างใด จึงยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง

นอกจากนั้น นายอดิศรยังกล่าวกับที่ประชุมด้วยว่าโดยส่วนตัวของตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดพุทธมณฑล เพราะการสร้างพุทธมณฑลควรมีที่ดินกว้างใหญ่เช่นที่ดอยสะเก็ด ส่วนที่ดินกลางเวียงเล็กไป จึงอยากจะให้ความมั่นใจว่าทางจังหวัดต้องการหารือและรับฟังแนวทางที่หลากหลายเพราะตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปยืนยันชัดเจน

“ต้องหารือก่อนเพราะตอนนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ” นายอดิศรกล่าวสรุป

ขณะที่ นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เสนอกระทู้การเปิดสภาพลเมือง กล่าวสรุปว่า แนวคิดเบื้องต้นก็คือให้เกิดการหารืออย่างกว้างขวางจากประชาชนที่หลากหลาย และแนวโน้มที่เหมาะสมก็คือ ให้มีการขุดค้นพื้นที่และพัฒนาให้เป็นพื้นที่ว่างหลากหลายประโยชน์ ซึ่งก็ต้องรอให้มีคณะกรรมการตามที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดชี้แจง อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีมติ ครม.ออกมาแล้วและหากมีการดื้อดึงดำเนินการก่อสร้างโดยอ้างว่างบประมาณตกมาแล้ว ตนก็จะรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น