ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานพิธีทุบทำลายทัณฑสถานหญิง เผยเตรียมใช้พื้นที่ทำ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” แต่เบื้องต้น จะให้ศิลปากรสำรวจเพื่อความชัดเจนก่อน ส่วนสำนักพุทธฯ-ธนารักษ์รับผิดชอบพื้นที่ จากนั้นค่อยก่อสร้างหอตามแบบล้านนา ประดิษฐาน “พระพุทธชยันตี” ตั้งเป้าเสร็จทัน 5 ธันวา ยันทุกภาคส่วน-ประชานต้องมีส่วนร่วม
วันนี้ (26 ม.ค.) นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และการทุบทำลายกำแพงทัณฑสถานหญิง เพื่อจัดสร้างข่วงหลวงเวียงแก้ว ณ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ถนนราชวิถี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พระเทพโกศล เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตัวแทนเจ้านายฝ่ายเหนือ และบุคคลสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมในพิธี
ในพิธีดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะได้ร่วมประกอบพิธีทุบทำลายกำแพงบริเวณหน้าทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ก่อนที่พระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารจะนำขบวนอัญเชิญพระพุทธรูปปางตรัสรู้เข้าสู่ภายในบริเวณทัณฑสถาน จากนั้นจึงมีการประกอบพิธีททอดผ้าบังสุกุล และเจริญพระพุทธมนต์เพื่ออุทิศส่าวนกุศลให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือ และผู้ที่เสียชีวิตในพื้นที่ พร้อมทั้งการทำพิธีถอนแผ่นดิน และพิธีถอนขึด หรือการถอนเอาสิ่งเสนียดจัญไร หรือเป็นอัปมงคลออกจากพื้นที่ดังกล่าว
การทำพิธีทุบทำลายกำแพงทัณฑสถานหญิงในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการประกอบพิธีปริวาสกรรม หรือเข้ากรรม และการสูตรถอน หรือสวดถอนเอาสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรออกจากพื้นที่ของทันฑสถานหญิง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างข่วงหลวงเวียงแก้ว พุทธมณฑลแห่งจังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างและบูรณะวัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี
โดยโครงการดังกล่าว มีแผนที่จะใช้พื้นที่ของทัณฑสถานหญิง (เดิม) ซึ่งจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์พบว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของ “เวียงแก้ว” หรือพระราชวังของกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยโบราณ โดยคาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยของพระญามังราย ผู้ก่อตั้งนครเชียงใหม่ และจากข้อมูลดังกล่าวทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามของนักวิชาการ และภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในการยื่นข้อเสนอถึงภาครัฐให้ทำการย้ายทัณฑสถานออกจากพื้นที่ดังกล่าว และทำการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชาวเชียงใหม่ จนกระทั่งทัณฑสถานหญิงได้ย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวในการดำเนินโครงการก่อสร้างข่วงหลวงเวียงแก้ว พุทธมณฑลแห่งจังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับการขนาดของพื้นที่ และแนวทางการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการหาหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว
นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงแนวทางในบริหารจัดการพื้นที่ หลังจากทำพิธีทุบทำลายกำแพงทัณฑสถานหญิงในวันนี้แล้วว่า ในเบื้องต้น จะมีการรื้อถอนกำแพง และสิ่งก่อสร้างเพื่อเปิดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่โล่ง หรือข่วงก่อน พร้อมทั้งทำการปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างการปูหญ้า หรือปลูกต้นไม้ ก่อนที่จะทำการประชาเสวนากับชาวเชียงใหม่เพื่อหาข้อสรุปว่าจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็จะให้กรมศิลปากรทำการสำรวจพื้นที่เพื่อค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยจะให้สำนักงานพระพุทธศาสนา และกรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลพื้นที่ไปก่อน
ส่วนแผนงานก่อสร้างตามโครงการของสำนักพระพุทธศาสนานั้น นายธานินทร์กล่าวว่าจะมีการก่อสร้างหอตามแบบล้านนา พร้อมทั้งนำพระพุทธรูปปางตรัสรู้พุทธชยันตี ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานในหอดังกล่าว โดยตั้งเป้าว่าจะให้แล้วเสร็จทันวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีนี้ และในขณะนี้ มีหลายฝ่ายได้นำเสนอแบบของหอดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะได้มอบให้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาเป็นผู้ดูแล รวมทั้งสอบถามความคิดเห็น และความเหมาะสมจากชาวเชียงใหม่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากการขุดค้นสำรวจของกรมศิลปากรพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นโบราณสถานที่สำคัญก็สามารถมอบหมายให้กรมศิลปากรเข้ามาดูแลแทนได้ เนื่องจากหากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวสมควรต่อการอนุรักษ์ ก็ควรดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานในวันข้างหน้า
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ยังเปิดเผยด้วยว่า หลังจากนี้ จะมอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ศิลปากร รวมถึงตัวแทนจากสภาวัฒนธรรม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ส่วนกรณีการรื้อถอน หรือเวนคืนพื้นที่อื่นๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงนั้น ในเบื้องต้น จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพราะต้องรอให้กรมศิลปากรทำการสำรวจเพื่อให้เห็นความชัดเจนของพื้นที่ก่อน อีกทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วย