ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมทางหลวงเร่งเดินหน้าโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช ถลุง 8.2 หมื่นล้าน ล่าสุด เปิดรับฟังความเห็นสางปัญหาจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณ กม.2 ถ.มิตรภาพ บายพาสนครราชสีมา เผยปรับรูปแบบใหม่ลดพื้นที่เวนคืนลงและเปิดรั้วกั้นให้ชุมชนร่วมใช้ประโยชน์ถนนมอเตอร์เวย์ด้วย ระบุ หากทุกฝ่ายเห็นด้วยพร้อมผลักดันก่อสร้างทันที
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลปรุใหญ่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 กรมทางหลวง ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของของประชาชนในการก่อสร้างจุดเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา บริเวณ กม.2 ถ.มิตรภาพ ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตามโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยได้รับความสนใจจากตัวแทนภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน สถานศึกษา และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 500 คน
ในระหว่างการประชุม ได้มีกลุ่มอาสาสมัครมูลนิธิพุทธธรรมการกุศล นครราชสีมา (ฮุก 31) มาชูป้ายคัดค้านไม่ให้ย้ายจุดสิ้นสุดของมอเตอร์เวย์ จากจุดเดิม กม.2 ไปลงในช่วง กม.4-6 เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งอาคารส่งเสริมพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมสาธุชนเพื่อปฏิบัติธรรมของฮุก 31 ขณะที่บริเวณหัวสะพานบ้านคนชุม ได้มีการขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ข้อความระบุว่า “ชาวบ้านตำบลปรุใหญ่ ขอคัดค้านจุดลงมอเตอร์เวย์บริเวณ กม.ที่ 2 จุดนี้ไม่เหมาะสม ทำให้การจราจรติดขัด และสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนโคราช”
โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง มีทั้งฝ่ายที่คัดค้านและสนับสนุนสลับกันลุกขึ้นชี้แจงเหตุผล ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดนำเสนอไปยังกรมทางหลวงต่อไป
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการให้หน่วยงาน องค์กรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบริเวณช่วงปลายของโครงการ จาก อ.ขามทะเลสอ ถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ได้รับทราบข้อมูล และสรุปผลการศึกษาในด้านต่างๆ ทั้งด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนในการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ โดยร่วมกันพิจาณา และร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อผลการศึกษาของโครงการ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้จัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีประชาชนบางส่วนที่ยื่นคัดค้านการก่อสร้างบางจุดเข้าไปยังกรมทางหลวง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยจุดที่เป็นปัญหามี 2 จุดใหญ่ คือ ช่วงผ่านพื้นที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ชี้แจง และทำความเข้าใจกับประชาชนได้ข้อยุติไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีการปรับช่วงโค้งถนนให้แคบลง ลดผลกระทบต่อชุมชนทุกฝ่ายยอมรับ และเข้าใจตรงกัน
ส่วนจุดที่ 2 คือ จุดสิ้นสุดโครงการฯ จากบริเวณช่วง อ.ขามทะเลสอ ถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมาบริเวณ กม.2 ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการคัดค้านมาโดยตลอด วันนี้จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งกรมทางหลวงได้มีการปรับปรุงรูปแบบโครงกางใหม่ในช่วงสิ้นสุดโครงการ จุด กม.2 โดยปรับเป็นรูปแบบทางหลวงที่ไม่มีรั้วกันตลอดช่วง จาก อ.ขามทะเลสอ-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 10.8 กม. พร้อมก่อสร้างช่องจราจรเพิ่มเติมจาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ใช้ และสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ทางหลวงพิเศษของโครงการได้
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงรูปแบบครั้งนี้ คือ ประชาชนในท้องถิ่นบริเวณนี้สามารถใช้ทางหลวงเส้นนี้ได้ และสามารถเชื่อมต่อทางเชื่อมสู่ทางหลวงเส้นนี้ได้ รวมถึงพื้นที่บริเวณสองข้างทางสามารถพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยด้านธุรกิจ-การค้า ที่มีทางหลวงเส้นนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวก และปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงรูปแบบทางแยกต่างระดับให้มีรัศมีเลี้ยวที่ลดลงบริเวณเข้าเชื่อมกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา แต่ยังเป็นไปตามมาตรฐานของกรมทางหลวง ซึ่งผลดีคือทำให้ลดพื้นที่การเวนคืนลงได้ โดยรูปแบบทางแยกยังคงเป็นสะพานต่างระดับที่อำนวยความสะดวก และปลอดภัยต่อการจราจรที่สามารถเลี้ยวข้ามทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมาได้เลยในทุกทิศทาง
ด้าน นายเกษม ศรีวรานันท์ วิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการจากนี้ไป จะมีการรวบรวมความคิดเห็นจากแบบสอบถามของประชาชนในที่ประชุมครั้งนี้ ส่งไปยังกรมทางหลวงเพื่อร่วมกันพิจารณาต่อไป ส่วนแนวทางจะออกมาอย่างไรคงต้องใช้เวลาสรุปผลอีกสักรยะ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบกับรูปแบบการปรับปรุงแก้ไขใหม่ดังกล่าว กรมทางหลวงจะเริ่มกระบวนการด้านการเวนคืนและดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการเวนคืนประมาณ 20 เดือน ซึ่งโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา รวมระยะทาง 196 กม. ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 82,000 ล้านบาท งบประมาณค่าเวนคืนที่ดิน 9,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดหางบประมาณในการก่อสร้าง