ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ -บริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดาเปิดปฐมนิเทศนัดแรก ที่ประชุมรับลูกเร่งโครงการเดินหน้าให้ทันเปิดรับประตูอาเซียนปี 58 นี้ หลังถูกชะลอมากว่าสิบปี ด้าน ผอ.สำนักทางหลวงที่ 15 จี้ทบทวนพ่วงเส้นทางฟลัดเวย์ ยิ่งทำให้น้ำท่วมถึงเมืองหาดใหญ่เร็วขึ้น
วันนี้ (25 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องกรุงเทพ 3 โรงแรมบีพี แกรนด์ทาวเวอร์ หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (ครั้งที่ 1) โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนการลงทุน ทางหลาวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สาย อ.หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย ท่ามกลางผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐ และเอกชนเป็นจำนวนมาก โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนทำการศึกษาจำนวน 25 ล้าน
นายบรรพต เจริญสัตยธรรม รองผู้จัดการโครงการวิศวกร บริษัท ทรานซ์ คอนซัลท์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่กล่าวว่า โครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ด่านสะเดาได้ทำการศึกษามาแล้วครั้งหนึ่งตั้งแต่ปี 2548 ระยะทาง 57.5 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่ติด 4 อำเภอบางกล่ำ, หาดใหญ่, คลองหอยโข่ง และสะเดา แต่ไม่มีความเป็นไปได้ทางการเงินในรูปแบบการลงทุน โดยเสนอให้เลื่อนเปิดให้ใช้บริการไปเป็นปี 2558
กระทั่งปีนี้ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้อีกครั้ง เนื่องจากปริมาณรถผ่านเข้าออกไทย-มาเลเซียมากกว่า 22,000 คัน/วัน (สถิติปี พ.ศ.2553) เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจราจรบนถนนกาญจนวานิชมีความแออัด และไม่ปลอดภัย โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนระยะทางเพิ่มขึ้นเป็น 63 กิโลเมตร จากจุดตัดทางหลวง 43 สนามบินหาดใหญ่-ทางหลวง 4054 ชายแดนไทย-มาเลเซีย ถึงโครงการนี้จึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยส่งเสริม และพัฒนาระบบทางหลวงที่อำนวยความสะดวกรวดเร็ว
“สำหรับโครงการนี้ ชาวบ้านมีความยินดีที่จะให้ดำเนินการ เพราะจะทำให้รถบรรทุกสินค้าได้ใช้เส้นทางนี้แทน ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่าย ถนนกาญจนวานิชก็จะปลอดภัยขึ้น แต่ต้องมีการเวนคืนที่ดิน และจ่ายค่าอาสินที่สมน้ำสมเนื้อ และไม่ส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม ตอนนี้กำลังดูความคุ้มทุนของการจัดทำโครงการว่ามีมากน้อยเพียงใด” นายบรรพตกล่าวต่ออีกว่า
สำหรับเรื่องเงินค่าเวนคืนนั้น อยากให้มองภาพรวมของโครงการ และดำเนินครั้งเดียว และจะไปดำเนินการเพิ่มในโครงการฟลัดเวย์ หรือทางระบายน้ำได้หรือไม่นั้น แล้วแต่อนาคต เพราะหากปล่อยให้ประตูอาเซียนเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว มูลค่าของที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่า รวมถึงเมื่อมีความเจริญเข้ามา ชุมชนขยาย การเวนคืนก็จะทำได้ยากขึ้นเช่นเดียวกัน
เช่นเดียวกับข้อห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมก็จะให้มีผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด คือ 1.การทำสะพานเชื่อม หรืออุโมงค์ลอดสองฝั่งของถนนเพื่อให้หมู่บ้านที่เส้นทางมอเตอร์เวย์ตัดผ่านกลางได้ติดต่อกันง่ายขึ้น 2.แนวคิดที่มีการเสนอให้ทำเส้นทางระบายน้ำ หรือฟลัดเวย์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ โดยสร้างให้ขนานไปกับเส้นทางมอเตอร์เวย์
อย่างไรก็ตาม นายบรรพต เจริญสัตยธรรม ได้กล่าวย้ำว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สาย อ.หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย ต้องเปิดรับประตูอาเซียนในปี 2558 นี้ เพื่อจะทำให้การคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว และเพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นเส้นทางส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซีย โดยเฉพาะยางพารา
ด้านนายสิทธิศักดิ์ อัศวพรหมธาดา ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 15 เห็นว่า การสร้างทางฟลัดเวย์ควบคู่ไปกับมอเตอร์เวย์นั้น ไม่ได้เป็นการลดปัญหาน้ำท่วม แต่ยิ่งจะทำให้น้ำที่กำลังจะท่วมไหลเข้าเมืองหาดใหญ่เร็วขึ้นมากกว่าเดิม จึงต้องคิดให้รอบคอบ และในขณะนี้ ควรมุ่งประเด็นสำคัญการสร้างทางหลวงพิเศษเป็นเรื่องหลักก่อน