xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมผุดด่วนมอเตอร์เวย์ชลบุรี-หนองคายรับภาคขนส่ง AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - เตรียมผุดทางหลวงพิเศษสายด่วนมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-หนองคาย รับมือเป็นศูนย์กลางการขนส่ง เชื่อมโยงโครงข่ายระบบลอจิสติกส์ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เผยการคมนาคมเติบโตล้าหลังมานานกว่า 15 ปี หลัง ครม. ผ่านแผนแม่บทมาตั้งแต่ ปี 2540

วันนี้ (31 ต.ค.) เวลา 14.00 น. กรมทางหลวงได้เริ่มออกเดินสำรวจแนวทางการก่อสร้างเส้นทางหลวงพิเศษสายใหม่ (มอเตอร์เวย์) เชื่อมโยงระหว่างท่าเทียบเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปยัง จ.หนองคาย เพื่อรองรับภาคการขนส่งที่กำลังจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมในโซนเขตภาคตะวันออก รวมถึงการเตรียมรองรับในการเป็นศูนย์กลางของระบบลอจิสติกส์ในภูมิภาคต่อการก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน ในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายบุญเกื้อ จั่นบรรจง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์นโยบาย กรมทางหลวง กล่าวถึงโครงการดังกล่าวในระยะแรกว่า ขณะนี้กรมทางหลวงกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจแนวเส้นทาง และศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการเส้นทางสายดังกล่าว ขนาด 2-4 ช่องจราจร ตอนชลบุรี-ปราจีนบุรี หรือจากจุดเริ่มต้นที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ผ่านพื้นที่ อ.ศรีราชา บางละมุง บ้านบึง หนองใหญ่ บ่อทอง เกาะจันทร์ ใน จ.ชลบุรี ผ่าน อ.แปลงยาว สนามชัยเขต ใน จ.ฉะเชิงเทรา ผ่าน อ.ศรีมหาโพธิ์ กบินทร์บุรี ใน จ.ปราจีนบุรี ไปบรรจบสิ้นสุดโครงการ ที่บริเวณทางหลวงหมายเลข 359 (สระแก้วตัดใหม่) สระแก้ว-เขาหินซ้อน ในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี รวมระยะทาง 125 กม.

โดยความสำคัญของเส้นทางสายดังกล่าวนี้ ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิเหนือ-ใต้ ที่มีความสำคัญสูงในการรองรับการเดินทางของประชาชน และภาคการขนส่งสินค้า เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างสูง ทั้งภาคการขนส่งสินค้า หรือระบบลอจิสติกส์ ภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเป็นศูนย์กลางภาคการขนส่งของประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีเศษข้างหน้า

สำหรับเส้นทางสายดังกล่าวนี้ ตลอดโครงการจะพาดผ่านจากท่าเทียบเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปยัง จ.ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย สิ้นสุดโครงการที่บริเวณด่านพรมแดนไทย-ลาว รวมระยะทาง 600 กม.

ซึ่งการออกแบบเส้นทางนั้นจะเน้นในด้านการลดผลกระทบต่อชุมชนในแนวเส้นทางให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ด้วยการสร้างสะพานลอยคนข้าม และทางอุโมงค์ลอดผ่านเชื่อมระหว่างถนนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ชุมชนระหว่างสองฝั่งทางหลวงพิเศษถูกตัดขาดออกจากกัน

ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ได้จัดทำแผนแม่บทการก่อสร้าง และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อ วันที่ 22 เม.ย.2540 โดยมีแผนดำเนินการใน 20 ปี จาก 2540-2559 แต่ปัจจุบัน สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จเพียง 2 เส้นทางเท่านั้น คือทางหลวงหมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี ระยะ 82 กม. และทางหลวงหมายเลข 9 วงแหวนฝั่งตะวันออก ระยะ 64 กม. รวมระยะทางทั้งหมดเพียง 146 กม. เท่านั้น

ซึ่งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา การดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้มีการสำรวจศึกษาแนวเส้นทางเลือกไว้รวม 3 เส้นทาง และได้มีการจัดการสัมมนาปฐมนิเทศ ในเชิงประชาสัมพันธ์ถึงความเหมาะสมของโครงการไปแล้ว เมื่อวันที่ 11 ต.ค.55 ที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ อีกรอบด้าน ก่อนที่จะมีการเลือกเส้นทางที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น